อีกหนึ่งตัวอย่างธุรกิจ “ร้านโชห่วย” ของคนไทย ที่สามารถสร้างได้อย่างมีเอกลักษณ์และถูกจริตคนท้องถิ่นอย่าง “อีหล่า มาร์เก็ต” ที่สร้างความแตกต่างจนเป็นที่ยอมรับ
“รักอิสระ มุกดาม่วง” หรือ “พีเจี้ยน” บอกกับเราถึงการปรับปรุงร้านโชห่วยของครอบครัว เมื่อกว่า 4 ปีที่แล้ว โดยมี 3 ทางเลือกว่าจะทิ้งโชห่วยร้านนี้ หรือจะปรับปรุงมันให้ดีขึ้น และอีกข้อคือการต้องหลุดเข้าไปสู่กระบวนการธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่
และสิ่งที่เขาเลือกทำจึงกลายมาเป็น “อีหล่า มาร์เก็ต” ร้านโชห่วยซึ่งดูเก๋ไก๋ แฝงไปด้วยความอบอุ่น ถูกจริตกับทั้งคนในท้องถิ่น และมีเอกลักษณ์การตกแต่งร้านสไตล์คนเมือง แบบคอมมูนิตี้มอลล์ ในหมู่บ้านหนองใส ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี
“แนวคิดของผมมันเริ่มต้นจากการทำร้านขายของที่คนธรรมดาเป็นเจ้าของได้ ในขณะเดียวกันเราก็มองถึงรูปแบบของโมเดิร์นเทรด เรื่องของรูปแบบการจัดการที่ดี ซึ่งร้านโชห่วยก็มีสินค้าที่ขายเหมือนกัน เราจึงมาคิดว่าจะจัดการแบบไหน ซึ่งก็ต้องศึกษาและวางแผนให้ดีก่อนลงมือทำ”
“พีเจี้ยน” บอกว่า ข้อโชคดีของเขา ที่ทำให้สามารถวางแผนจัดการ และจัดระเบียบของร้านให้ดูมีจุดเด่น มีชีวิตชีวา อาจเป็นเพราะประสบการณ์การเป็นช่างภาพมาก่อนตั้งแต่สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัย ที่รับงานถ่ายภาพ และการเคยฝึกงานในนิตยสาร a day หรือการทำสารคดีเชิงภาพถ่าย WWF มาก่อน
“ผมว่า สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้เราได้มองสิ่งรอบข้างในมุมมองที่แตกต่างออกไป อย่างชั้นวางของ เราก็มองเป็นเฟรมภาพๆหนึ่ง ไม่รู้ว่าเราเข้าข้างตัวไปมั้ย แต่เราไม่ได้มองเหมือนคนทั่วไป เรามองว่ามันควรจะให้ของที่วางอยู่ไล่สีไปอย่างนี้ เรามองว่า Level ของขวด ถ้ามันจะต้องเอียงไปอย่างนี้ ถึงจะน่าสนใจ เป็นการจัดวางองค์ประกอบ ซึ่งมันก็ติดนิสัยมาจากการเป็นช่างภาพ มันทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการมองทุกอย่างของเราเป็นองค์ประกอบไปหมด”
ความน่าสนใจของ “อีหล่า มาร์เก็ต” ในสายตาคนนอก คือการอยู่ร่วมกับชุมชน ซึ่งภายในร้านมีจุดจำหน่ายสินค้าประเภทผัก ผลไม้จากชุมชนรอบๆ แต่ในใจของ “พีเจี้ยน” รู้อยู่แล้วว่านี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ จากสิ่งที่โชห่วยเคยมี แต่ที่ผ่านมาขาดการสื่อสาร หรือสร้างการรับรู้ในวงกว้างเท่านั้นเอง
“การมีผักขายในร้านโชห่วย ไม่ใช่ของใหม่ สมัยก่อนร้านโชห่วยทุกร้านตามหมู่บ้านก็มีผักขาย ซึ่งผมก็ไม่ใช่คนที่ริมเริ่มแนวคิดนี้ เพียงแต่เรานำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น เราจะให้เขาเก็บผัก เอามาส่งดู ถ้าผักสดใหม่ เราคิดแบบเราไปจ่ายตลาด ถ้าใบกะเพรา มันเล็กๆ เหี่ยวๆแห้งๆ ไม่หอม เราก็ไม่ซื้อแล้ว ผักที่เอามาส่ง
ผมจะไปดูถึงที่บ้าน ว่าเขาปลูกอย่างไร ใช้สารเคมีมั้ย เราไม่ได้บังคับว่าเขาต้องเลิกใช้ แต่เราบอกว่าถ้าไม่ใช้สารเคมีมันจะดีกว่า เราสามารถเอาผักพวกนี้มาทำคอนเทนต์ เป็นเรื่องราวของมันได้ ซึ่งจะช่วยให้เขาขายได้ดีขึ้น ผมมองว่าทุกอย่างมันเป็นคอนเทนต์ได้หมด ซึ่งคอนเทนต์ก็นำมาซึ่งตัวเลขของรายได้ของเขา”
สิ่งสำคัญที่ “อีหล่า มาร์เก็ต” ถือว่าเป็นหัวใจหลักของร้านคือ การบริการ ที่ “พีเจี้ยน” เล่าให้ฟังว่าเขาประทับใจ การบริการของร้านสะดวกซื้อ
“ผมประทับใจการทำงานของพนักงานร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น นะ ผมเลยมาคิดว่าถ้าร้านเราเป็นเหมือนเซเว่นในสไตล์ของคนอีสานหล่ะ เรามองว่าถ้าลูกค้าประทับใจในการบริการของเรา ลูกค้าก็จะกลับมาซื้ออีก สมมุติเช่น เราก็จะถามว่าซื้ออันนี้เอาไปทำอะไรกิน เขาก็จะบอกว่าเอาไปทำอันนั้นอันนี้นะ คือ มันควรจะมี 1 ประโยคแบบคำถามปลายเปิด เพื่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ว่าเราไม่ใช่แค่พ่อค้ากับลูกค้านะ เมื่อเขามาอีกรอบเขาก็จะกล้าที่จะคุยกับเรา มีความรู้สึกเหมือนคนคุ้นเคยกัน มันเป็นงานบริการที่ผมค่อนข้างใส่ใจ”
นอกจากเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผ่านการรับซื้อผลผลิตและการจ้างงานคนในชุมชนแล้ว “อีหล่า มาร์เก็ต” ยังหวังที่จะมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยการจัดกิจกรรมสร้างความรับรู้ให้กับคนภายนอก
“ผมคิดว่า ในแง่ของการขายของมันสมบูรณ์ในตัวของมันอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกมุม คือเรื่องของการมีส่วนร่วมกับชุมชน กิจกรรมที่ทำร่วมกันเพื่อดึงคนในเมืองให้มารู้จักกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเรามากขึ้น ความเรียบง่ายที่ไม่ได้หวือหวาอะไร เราคิดว่าร้านของเราจะเป็นแหล่งจัดกิจกรรม สื่อสารเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับคนในเมือง ผมคิดมาตั้งแต่ปีก่อนแล้วหล่ะ แต่มันติดโควิด อาจจะเป็นรูปแบบของคอนเสิร์ต “อีหล่า เฟสติวัล” อะไรอย่างนี้ โดยจะจัดเป็นบรรยากาศดนตรีในทุ่งนา”
พูดถึงความสำเร็จ วันนี้ “อีหล่า มาร์เก็ต” เดินทางมาไกลพอสมควร มีลูกค้าทั้งขาประจำ และหน้าใหม่แวะเวียนมาอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง โดย “พีเจี้ยน” ได้ฝากแนวคิดให้กับคนที่คิดจะเริ่มธุรกิจโชห่วย ให้สามารถยืนระยะอยู่ได้ ว่า สิ่งที่ต้องมีคือความตั้งใจ
“ผมพูดเสมอว่า ถ้าจะแนะนำ ไม่รู้ว่าจะแนะนำอะไร เพราะผมไม่ได้ทำอะไรที่มันใหม่มาก ไม่ใช่อะไรที่ล้ำเกินคนอื่นจะทำไม่ได้ แต่ว่าผมทำร้านด้วยจุดเด่นที่มีอยู่แล้วของร้านโชห่วย โดยที่เราตั้งใจทำมันให้มากขึ้น ต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะมีเงินเท่าไหร่ คนชอบถามผมว่าต้องมีเงินเยอะใช่มั้ยถึงจะทำได้
ผมก็จะบอกว่า ไม่จำเป็น มันอยู่ที่การวางแผนและการบริหารจัดการทำร้านให้มันมีจุดเด่น อาศัยแนวคิดที่ว่า “น้อยแต่มาก” ซึ่งมันก็จะทำให้ดูน่าสนใจ ซึ่งเล็กใหญ่มันอยู่ที่ความตั้งใจที่จะสื่อสาร แบบเล็กพริกขี้หนู เล็กแต่มีของขาย ไม่สกปรก มันน่าเข้ากว่าร้านใหญ่แต่สกปรก” พีเจี้ยนกล่าวทิ้งท้าย
สามารถเข้าไปเยี่ยมชมบรรยากาศ “อีหล่า มาร์เก็ต” ได้ที่ facebook : อีหล่า มาร์เก็ต - Era Market
ขอบคุณที่มา : ThaiQuote