ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน คือ บุคคลที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา ม.33 และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน
- กรณีว่างงานจากการลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา ได้รับเงินทดแทน 45% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน/ปีปฏิทิน
- กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทน 70% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน/ปีปฏิทิน
โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ขั้นตอนกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา และถูกเลิกจ้าง
- ลงทะเบียนขอใช้ Digital ID ผ่านระบบ https://e-service.doe.go.th เพื่อพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล
- เข้าระบบ (Log-in) โดยใช้ User/Password ที่ลงทะเบียน Digital ID และกรอกข้อมูลตามระบบให้ครบถ้วน พร้อมแนบไฟล์ภาพหน้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน (Book Bank) ***ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ผู้ประกันตนไม่ต้องยื่นเอกสารใด ๆ กับสำนักงานประกันสังคม***
- รายงานตัวตามกำหนด โดยคลิกที่ปุ่ม “บันทึก” เพื่อเป็นการยืนยันการรายงานตัว
หมายเหตุ: ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานในอัตราเดิม ดังนี้
- ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา ได้รับ 30% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน/ปีปฏิทิน
- เลิกจ้าง ได้รับ 50% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน/ปีปฏิทิน
กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยจากการระบาดของโรคติดต่อ ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการ เนื่องจากรัฐสั่งปิด และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563)
ขั้นตอน ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน
- ผู้ประกันตน กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
- นายจ้างบันทึกข้อมูลผู้ประกันตนหยุดงานชั่วคราว ในระบบ e-Service ทาง www.sso.go.th (หากนายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนก่อน) กรอกข้อมูลรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ตามข้อเท็จจริง
- นายจ้างนำส่งแบบ สปส. 2-01/7 ของลูกจ้าง ไปที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่รับผิดชอบที่สถานประกอบการตั้งอยู่
กรณีลูกจ้างกระทำความผิด ถูกไล่ออก หรือปลดออก จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน