ศูนย์วิจัยกสิกร ชี้ คนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จะได้รับผลกระทบที่มากที่สุด จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 20%
ท่ามกลางสถานการณ์ค่าครองชีพที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในหมวดอาหาร ค่าไฟฟ้าและค่าเดินทาง สร้างความกังวลและผลกระทบให้กับคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จะได้รับผลกระทบที่มากกว่าคนกรุงเทพฯ ในกลุ่มรายได้อื่นๆ โดยคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 20%
เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีก่อนที่จะมีการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ทำให้มีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยเลือกใช้จ่ายสินค้าเท่าที่จำเป็น ลดหรือชะลอการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สินค้าแฟชั่น เป็นต้น ลดกิจกรรมสังสรรค์ รวมถึงการหันไปใช้สินค้าทดแทนที่ราคาถูกลง เช่น กลุ่มเนื้อสัตว์ที่ถูกกว่า สินค้ามือสอง หรือสินค้าแบรนด์รอง เป็นต้น
จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าปัญหาค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นอาจจะลากยาวมากกว่า 1 ปี ดังนั้น ในระยะสั้น นอกเหนือจากการออกมาตรการของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคได้บางส่วน รวมถึงการตรึงราคาสินค้า/ลดราคาสินค้าของภาคธุรกิจ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคแล้ว ในระยะยาว ภาครัฐและเอกชนควรเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหาอุปทานขาดแคลน (Supply shortage) ตลอดจนการเพิ่มโอกาสการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดควบคู่ไปด้วย เช่น การเพิ่มปริมาณสุกรในตลาดผ่านการสนับสนุนเงินทุนและสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรรายย่อยกลับมาเลี้ยงสุกรมากขึ้น การใช้มาตรการควบคุมและเฝ้าระวังโรดระบาดในสัตว์ต่างๆ อย่างเข้มงวด เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจจะต้องมีความยืดหยุ่นและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนให้มากขึ้น เช่น ลดปริมาณหรือขนาดของสินค้า (Resize) แทนการปรับขึ้นราคา การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสต็อกสินค้า เป็นต้น เพื่อชะลอการปรับเพิ่มขึ้นของราคาและสร้างโอกาสการเติบโตในระยะถัดไป
ที่มาข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย