ธ.ก.ส. พร้อมเติม 10,000 ล้านบาท เสริมสภาพคล่องเกษตรกรผ่าน "สินเชื่อสู้ภัย COVID-19" กู้สูงสุด 10,000 บ. ดอกเบี้ย 0.35% ปลอดชำระ 6 งวดแรก
ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาขอสินเชื่อสู้ภัย COVID – 19 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบให้กับเกษตรกรรายย่อยและลูกจ้างภาคการเกษตร รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ส่งชำระคืน 3 ปี ปลอดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่เชื้อ ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ผ่าน LINE Official BAAC Family ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 65
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 จากเดิมที่สิ้นสุดโครงการไปแล้ว โดยขยายเวลาไปจนถึง 30 กันยายน 2565 เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกร ลูกจ้างภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ให้มีสภาพคล่องในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน (Clean Loan) อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี วงเงินรวมกว่า 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายในการช่วยเหลือประชาชน ด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ มาสนับสนุน ซึ่ง ธ.ก.ส. เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลไปยังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินช่วยเหลือตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การโอนเงินประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลัก การประกันภัยพืชผลและการเติมเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้เกษตรกรนำไปลงทุนประกอบอาชีพและเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่าย ซึ่งในส่วนของสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 9,391 ล้านบาท
นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID - 19 และเว้นระยะห่างทางสังคมตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ผ่าน LINE Official BAAC Family และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือ Call Center 02 555 5555 ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565