วันนี้ ชี้ช่องรวย มีช่องทางหรือแนวทางการทำงานมานำเสนออีกแล้ว ในยุคที่ใครๆว่าหางานยากมาก แต่ก็ยังมีความต้องการทางด้านแรงงานอยู่ไม่น้อย ที่ยังขาดแคลนคนทำงาน สำหรับปี 2565 แรงงานหรืออาชีพที่ตลาดต้องการคือกลุ่มใดนั้น ในเรื่องนี้ กรมประชาสัมพันธ์ ได้เปิดเผยลิสต์ 10 อาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการมากที่สุด และแนวโน้มสำหรับการทำงานในยุคหลังโควิด-19 เรียกว่าถ้าเรียนด้านนี้ไป รับรองว่าจบออกมาแล้ว ไม่ตกงาน
1. สายงานขาย
หากพูดถึงตำแหน่งงานที่บริษัทต่าง ๆ เปิดรับตำแหน่งงานมากที่สุด ก็คงไม่พ้น "งานขาย" หรือที่เรียกกันว่าตำแหน่งเซลล์หรือพนักงานขายนั่นเอง โดยพนักงานขายเป็นตำแหน่งที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทโดยตรงมากกว่าตำแหน่งงานอื่น ๆ ไม่แปลกที่หลายบริษัทเปิดรับสมัครงานตำแหน่งพนักงานขายเยอะมาก บางบริษัทถึงขั้นเปิดรับกันตลอดทั้งปีเลยทีเดียว
ตัวอย่างอาชีพด้านงานขาย อาทิ พนักงานขายหน้าร้าน พนักงานขายออนไลน์ เจ้าหน้าที่ให้บริการด้านข้อมูลสินค้า งานขายประกัน พนักงานขายรถยนต์ และพนักงานขายทางโทรศัพท์ เป็นต้น
2. งานขนส่งและคลังสินค้า
เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ ที่ต้องเข้ามาจัดการระบบขนส่ง หรือการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ ทั้งภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศ สายงานด้านนี้ยังรวมไปถึงกระบวนการ วิธีการ การวางแผนสินค้าคงคลัง การจัดเก็บ ควบคุม การบริหารธุรกิจอีกด้วย ทำให้ความต้องการอาชีพนี้อยู่ทุกพื้นที่
ตัวอย่างอาชีพด้านขนส่งและคลังสินค้า อาทิ เจ้าหน้าที่จัดเรียงคลังสินค้า เจ้าหน้าที่จัดส่งสินค้า หรือเจ้าหน้าที่จัดการสต๊อก เป็นต้น
3. อาชีพด้านไอที
เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจและการทำงานในยุคดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สายงาน IT (Information Technology) จึงมีความต้องการสูงขึ้นทุกในแต่ละปี เพราะเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญของทุกธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมในการส่งเสริมและสร้างความได้เปรียบในการการแข่งขันทางธุรกิจ
ตัวอย่างอาชีพด้านไอที อาทิ โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ Web Developer คอมพิวเตอร์กราฟิก นักออกแบบเว็บ นักข่าวสายไอที และผู้ดูแลระบบ เป็นต้น
4. อาชีพวิศวกร
สำหรับสายงานวิศวกร เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ขาดแคลน เพราะนายจ้างต้องการแรงงานที่มีทักษะเชิงลึกและทักษะรอบด้านประกอบกัน รวมถึงยังพิจารณาจากประสบการณ์ในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้วิศวกรเป็นกลุ่มอาชีพที่ตลาดต้องการสูงมาก เพื่อรองรับการลงทุนของบริษัทต่างประเทศที่มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต การจัดการโรงงาน การดูแลมาตรฐานของโรงงาน รวมถึงการดูแลระบบเครื่องจักร เครื่องกล เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูง
ตัวอย่างอาชีพวิศวกร อาทิ วิศวกรโยธา วิศวกรเครื่องกล วิศกรขนส่งทางราง และวิศวกรในการวางระบบสัญญาณการเดินรถไฟและควบคุมระบบสัญญาณต่าง ๆ เป็นต้น
5. สายงานช่างเทคนิค
สายงานนี้เปิดรับผู้สมัครจากหลากหลายระดับการศึกษา มีตั้งแต่ ปวช. ปวส. ไปจนถึงปริญญาตรี ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและความรับผิดชอบของงาน โดยลักษณะงานเกี่ยวกับการสร้าง ตรวจแก้ ซ่อม ปรับ ประกอบ ดัดแปลง ทดสอบ และบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับโลหะและไฟฟ้า คำนวณรายการและประมาณราคาในการดำเนินงานดังกล่าว ควบคุมตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรเครื่องยนต์ ตลอดจนแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญในแรงงานการผลิต ทั้งโรงงาน ออฟฟิศ และหน่วยการผลิตเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างสายงานช่างเทคนิค อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ และช่างซ่อมอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
6. เจ้าหน้าที่บัญชี
งานบัญชี ถือว่าเป็นงานที่ยากและจะต้องมีความเป๊ะอย่างที่สุด ทั้งยังเป็นสายงานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะด้านในการจัดการ เพราะต้องคอยตรวจสอบสินทรัพย์ และหนี้ รวมไปถึงบัญชีลูกหนี้-เจ้าหนี้ รวมถึงปิดสรุปงบ เพื่อให้องค์กรนำตัวเลขนี้ไปพัฒนาธุรกิจต่อไป ที่สำคัญ เมื่อถึงเวลาที่ต้องส่งภาษีให้กับกรมสรรพากร นักบัญชีนี่แหละคือผู้ที่จัดการส่งเอกสารทั้งหมดที่กรมสรรพากรต้องการ
7. เจ้าหน้าที่การเงิน
ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม การบริหารจัดการเงิน และสินทรัพย์ต่าง ๆ ของบริษัทถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยผู้ที่ทำหน้าที่ในส่วนนี้ ก็คือ คนที่ทำงานการเงินนั่นเอง โดยหน้าที่รับผิดชอบของสายอาชีพนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องการวางบิล ซื้อขาย ทวงหนี้ วางแผนการชำระหนี้ จัดการหนี้สินของบริษัท และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารรายรับรายจ่าย งานด้านนี้จึงต้องการคนที่นอกจากจะมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีและตัวเลขแล้ว ยังต้องเป็นคนที่มีความละเอียดรอบคอบอีกด้วย
8. เจ้าหน้าที่ธุรการและงานจัดซื้อ
ธุรการ ถือเป็นอีกหนึ่งสายงานที่แม้จะดูเป็นอาชีพที่ไม่โดดเด่น แต่ความเป็นจริงแล้วคนที่ทำงานในส่วนนี้ถือเป็นกำลังสำคัญของบริษัท เพราะเปรียบเสมือนหน่วยสนับสนุนที่ช่วยให้การทำงานร่วมกันในองค์กรสำเร็จลุล่วงได้อย่างดี มีหน้าที่การดูแลจัดการเอกสาร การประสานงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในขณะที่ฝ่ายจัดซื้อ นอกจากจะดูแลเรื่องเอกสารแล้ว ยังต้องดูแลเรื่องของการซื้อขาย และตรวจเช็คราคาอีกด้วย
9. อาชีพบริการลูกค้า/งานต้อนรับ
แม้ว่าเทรนด์ธุรกิจจะเปลี่ยนไป แต่องค์กรก็ยังจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลกับลูกค้าหรือผู้บริโภค เกี่ยวกับบริการหลังการขาย รวมถึงงาน Call Center เพราะนี่คือ งานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าอยู่กับเราไปนาน ๆ และเลือกที่จะใช้บริการกับเราต่อไป
10. อาชีพการตลาดและประชาสัมพันธ์
นี่เป็นอีกหนึ่งในอาชีพที่ตลาดต้องการเสมอไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม เพราะนักการตลาดและประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ในการสร้างและปฏิบัติกลยุทธ์และแคมเปญการตลาด เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ผลิตภัณฑ์หรือเพิ่มยอดขายให้องค์กร โดยทำงานร่วมกับทีมขายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ช่องทางโฆษณาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการผู้บริโภค
ในปี 2565 ยังเป็นปีที่สุดแสนจะท้าทาย ทั้งจากบรรดานิสิตจบใหม่ที่ต่างมองหางานทำ หรือคนทำธุรกิจที่เฝ้ามองว่าทิศทางของการลงทุนต่อแต่นี้จะเป็นอย่างไร ต้องยอมรับว่า ถึงตอนนี้ก็ยังคาดเดาอะไรไม่ได้ เนื่องจากปัญหาที่เจอตอนนี้ทั้งภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังหนักอยู่ ไหนจะปัจจัยภายในประเทศของเราเอง คงต้องรอดูในไตรมาสแรกของปี 2565 ว่าทิศทางจะเป็นไปอย่างไร
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.ktc.co.th/