โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ธนาคารกรุงไทย สานต่อพระราชปณิธานพระมารดาแห่งไหมไทย ร้อยเส้นใย จากท้องถิ่นสู่สากล ติดปีกภูมิปัญญาไทยสู่ความยั่งยืน

ผ้าไทย คงเอกลักษณ์ความงามที่ไม่เหมือนใคร ด้วยมรดกทางภูมิปัญญาและเสน่ห์ของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทั้งสีสัน ลวดลาย และฝีมือในการการทอผ้า นำไปสู่การพัฒนาและยกระดับจนได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการในระดับสากล

ด้วยพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทย เพื่อให้ชาวไทยภูมิใจในเอกลักษณ์ของชาติ และร่วมกันอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันล้ำค่าไม่ให้สูญหาย และนำภูมิปัญญามาพัฒนาเป็นอาชีพ สร้างรายได้จากอัตลักษณ์ท้องถิ่น พร้อมต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญาดั้งเดิมให้ทันสมัยสู่สากลเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไทย รวมถึงมีการรับรองคุณภาพผ้าไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทย (Royal Peacock Logo) ให้เป็นมาตรฐานเครื่องหมายรับรองคุณภาพผ้าไหมไทย โดยปัจจุบันมีการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานใน 35 ประเทศทั่วโลก กล่าวได้ว่า ทรงพลิกฟื้นผ้าไทยจากผ้าพื้นถิ่นภูมิปัญญาชาวบ้านให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากอาชีพเสริมในครัวเรือนสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

 

 

ด้วยแนวคิด กรุงไทย ติดปีกไทย สู่ความยั่งยืน ที่ต้องการเติบโตไปพร้อมกับทุกภาคส่วนของสังคม โดยเชื่อมโยงเรื่อง ESG เข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) เชื่อมกรอบการดำเนินธุรกิจ เพื่อช่วยลดปัญหาความยากจน พัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ทำให้ชุมชน สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยการสร้างสังคมยั่งยืน ธนาคารดำเนินโครงการ กรุงไทยรักชุมชน มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ติดปีกให้วิถีการดำรงชีวิตของชุมชน โดยยึดหลักการพึ่งพาตนเอง คำนึงถึงศักยภาพ ทรัพยากร ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเป็นหลัก

 

 

ธนาคารกรุงไทย น้อมนำแนวพระราชดำริ สนับสนุนผ้าไทยด้วยวีถีชุมชน ภายใต้โครงการ “กรุงไทยรักชุมชน” เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ศิลปผ้าถิ่นไทย ต่อยอดมรดกภูมิปัญญา ยกระดับสู่มาตรฐานสากล และส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ พร้อมติดปีกชุมชนไทย สู่ความยั่งยืน

 

 

ชุมชนบ้านสนวนนอก จังหวัดบุรีรัมย์
ตำนานผ้าหางกระรอกสานต่อความงดงามผ่านเส้นใยไหม

ชุมชนสนวนนอกมีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง ผ่านวิถีการดำเนินชีวิตและประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ผสมผสานด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นก่อให้เกิด ผ้าไหมหางกระรอกคู่ ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองที่ใช้วิธีการทอผ้าไหมลวดลายแบบดั้งเดิม พิถีพิถันตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวเส้นใยไหมสีเหลืองทอง นำมาต้มเพื่อฟอกกาวออก จนกลายเป็นสีขาวนวล หากอยากได้สีสัน ต้องนำไปย้อม และนำเส้นไหมไป “ตีเกลียว” โดยนำเส้นไหมสองสีมาพันเป็นเกลียวจนเป็นเส้นเดียว หรือ “ควบเส้น” จากนั้นนำไปทอเป็นผืนผ้า ซึ่งจะมีสีสันเลื่อมลายเหลื่อมกันคล้ายกับหางกระรอก จึงเรียกผ้าทอนี้ว่า “ผ้าหางกระรอก” เมื่อนำมาใช้เป็นเส้นพุ่งทอกับเส้นยืน สีพื้นที่ต่างกันจะทำให้เกิดความสวยงามเฉพาะตัว มีความมันระยิบระยับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื้อผ้าจะมีความแน่นจากไหมที่เป็นเส้นคู่ อันเป็นภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวอีสานใต้ โดยได้รับคัดเลือกเป็นผ้าประจำจังหวัดบุรีรัมย์

 

 

ชุมชนบ้านเดื่อ จังหวัดหนองคาย
ผ้าฝ้ายย้อมมะเดื่อ ด้วยความเชื่ออันมงคล
ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือที่ย้อมสีจากมะเดื่อธรรมชาติอันเป็นเสน่ห์แห่งอัตลักษณ์ของชุมชน ก่อให้เกิดลวดลายบนผ้าด้วยสีส้มอิฐ ซึ่งเป็นสีประจำจังหวัดหนองคาย ชาวบ้านจะเลือกใช้ใบ เปลือก กิ่งก้าน และลำต้นของมะเดื่อนำมาต้ม เพื่อย้อมสีเส้นฝ้าย ก่อนนำไปทอ ผ้าฝ้ายย้อมมะเดื่อ ที่ผ่านการย้อมสีจากมะเดื่อและคัดเลือกลาย ตลอดจนการทอที่ละเอียด สวยงาม จนเสร็จสมบูรณ์เป็นผืนสีสันงดงาม หากนำผ้าฝ้ายหรือเสื้อยืดมามัดย้อมด้วยสีของมะเดื่อ จะก่อให้เกิดลวดลายแปลกตาเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เชื่อว่า ผ้าที่ได้จากการย้อมสีของมะเดื่อซึ่งเป็นไม้มงคลเหมาะแก่การสวมใส่เสริมมงคลให้กับตนเอง

 

 

ชุมชนตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี
เปลือกมะพร้าวเคล้ามังคุด สร้างสีสันให้หยุดทุกสายตา
ชุมชนชาวสวนมะพร้าว เชื่อมโยงวิถีชีวิตไว้ด้วยพืชเศรษฐกิจอันเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ใช้ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ผ้ามัดย้อมจากเปลือกมะพร้าวและเปลือกมังคุด โดยนำเปลือกมะพร้าวแก่ที่ยังมีสีเขียว วัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่มากในชุมชน มาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด คิดค้นนำใบมังคุดมาใส่ผสมเพื่อให้ได้เม็ดสีที่เข็มขึ้น สีสวยและติดทนนาน และด้วยฝีมือหนึ่งเดียวในโลกที่ลายของเสื้อไม่ซ้ำแบบ สร้างอัตลักษณ์ให้กับท้องถิ่น

ธนาคารกรุงไทย ขอร่วมสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ส่งเสริมผ้าไทย มรดกภูมิปัญญาคุณค่าของแผ่นดิน ให้คงอยู่เคียงคู่กับคนไทยและชุมชนอย่างยั่งยืนสืบไป