กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน เคาะราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 โดยจะกำหนดราคาส่วนต่างที่จะต้องจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 15 ต.ค.65 (งวดแรก) และพิจารณางวดถัดไปที่จะจ่ายทุก 7 วัน รวมจ่ายทั้งสิ้น 33 งวดจนจบโครงกา สำหรับการกำหนดราคาประกันรายได้ข้าวเปลือก 5 ชนิด มีดังนี้
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท รายละไม่เกิน 14 ตัน
- ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท รายละไม่เกิน 16 ตัน
- ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ตัน
- ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ตัน
- ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท รายละไม่เกิน 16 ตัน
ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาท กำหนดไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือนนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง คาดว่าการจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้และเงินช่วยเหลือลดต้นทุนไรละ 1,000 บาท จะเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรตรวจสอบชื่อบัญชี ธ.ก.ส.ให้ตรงกับชื่อที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่
นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้เตรียมการเดินหน้ามาตรการคู่ขนานอีก 3 มาตรการ เพื่อช่วยดึงราคาข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก ได้แก่ 1) มาตรการชะลอขาย โดยให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจัดเก็บไว้ในยุ้งฉาง เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน โดยรัฐบาลช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน 2) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมของสหกรณ์ โดยช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ไม่เกิน 12 เดือน และ 3) มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง โดยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกและเก็บสต็อก เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน ซึ่งรัฐจะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3