โลกวันนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่โอกาสของผู้ประกอบการไทยยังมีอยู่อีกมาก หากสามารถจับเทรนด์โลกและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุค Next Normal ได้
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) คาดการณ์ว่า การค้าสินค้าของโลกในช่วงโค้งสุดท้ายปี 2565 มีแนวโน้มชะลอลง ตามที่ IMF คาดว่าจะปิดปีที่ 2.9% ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะชะลอลงต่อเนื่องเหลือ 2.0% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี สิ่งที่น่าจับตามอง คือ การค้าโลกในระยะต่อจากนี้จะเผชิญกับ 4 ฉากทัศน์ที่เปลี่ยนไป ดังนี้
1) “North…to… South Trade”
• เศรษฐกิจซีกโลกใต้โตกว่าซีกโลกเหนือ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566- 2570) เศรษฐกิจของแอฟริกา อินเดีย และอาเซียน-5 มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยที่ 4.1% 6.5% และ 5.1% ตามลำดับ สูงกว่าเศรษฐกิจ 3 ประเทศยักษ์ใหญ่เดิม ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 1.6% 1.5% และ 4.6% (ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนขยายตัวราว 6% ต่อปี) ตามลำดับ
• การค้าซีกโลกใต้โตแรง Top3 ของโลก มูลค่าการค้าในช่วงปี 2564-2569 ของอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยสูงสุดในโลกที่ 5.6% ตามมาด้วยเอเชียใต้ (รวมเอเชียกลาง) และแอฟริกาที่ 5.0% และ 4.4% ตามลำดับ ขณะที่อเมริกาเหนือ จีน และยุโรปมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่าที่เพียง 3.4% 3.4% และ 3.3% ตามลำดับ
2) “Fair…to…Friend Trade” โลกวันนี้แบ่งได้ เป็น 2 ขั้ว (Decoupling) ด้านหนึ่งนำโดยสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยุโรป ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีจีนและรัสเซียเป็นแกนนำ ทั้งนี้ ความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันมีความชัดเจนขึ้น ส่งผลให้อิทธิพลทางการเมืองอยู่เหนือเศรษฐกิจในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ สหรัฐฯ พยายามห้ามบริษัทสหรัฐฯ ขายชิปขั้นสูงให้จีน ยุโรปและสหรัฐฯ ไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย และรัสเซียขายน้ำมันราคาถูกให้จีนและอินเดีย เป็นต้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การค้าโลกในระยะถัดไปอาจเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) และสงครามราคา (Price War) ที่เพิ่มขึ้น
3) “Global…to…Regional Supply Chain” ปัญหาเชิงโครงสร้างของ Global Supply Chain ที่ถูกกดดันจากการระบาดของ COVID-19 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยธรรมชาติที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบแพงขึ้น รวมถึงการขนส่งทั่วโลกมีปัญหา ปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้ผู้ผลิตทั่วโลกพยายามตัด Supply Chain ของตัวเองให้สั้นลง เพื่อลดความเสี่ยงที่ Production line อาจหยุดชะงัก โดยเฉพาะการหันมาพึ่งพา Suppliers ในประเทศ และในภูมิภาคมากขึ้น
4) “Reverse Currency War” ในอดีตหลายประเทศอาจแข่งกันลดค่าเงินเพื่อให้สกุลเงินของตนอ่อนค่า เพื่อหวังช่วยกระตุ้นการส่งออก แต่ในปัจจุบัน มากกว่า 80% ของประเทศทั่วโลกต่างขึ้นดอกเบี้ย เพื่อหวังชะลอการอ่อนค่าของสกุลเงินตนเอง เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าและต่อสู้กับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะกดดันให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อหลายประเทศชะลอลง และยิ่งเป็นการซ้ำเติมการค้าโลก
ในส่วนของเทรนด์ธุรกิจ กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า มีโอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตาในระยะข้างหน้าสรุปได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ เรียกว่า “Triple S Economy”
1. Sustainable Economy เป็นกระแสที่มาแรงมากในปัจจุบัน และมีมูลค่าตลาดสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะตลาดการจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืน เติบโตสูงถึง 21% ต่อปี ในช่วงปี 2565-2572 (CAGR) จาก 13,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 เป็น 51,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2572 ทั้งนี้ การจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืนมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การติดตามมลพิษทางอากาศและน้ำ การจัดการ Carbon Footprint การตรวจจับเพลิงไหม้ การบริหารพื้นที่ป่า อาคารสีเขียว การบริหารสภาพดินและความชุ่มชื้น การทำเหมืองและสำรวจเหมืองอย่างยั่งยืน การจัดการน้ำ การติดตามและพยากรณ์สภาพอากาศ เป็นต้น ขณะเดียวกัน เม็ดเงินต่อระบบเศรษฐกิจจากการมุ่งสู่ Net-Zero Emission ภายในปี 2593 สูงถึง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ใกล้เคียงกับ GDP ของอินเดียในปัจจุบัน) นอกจากนี้ มีหลายธุรกิจที่กำลังอยู่ในกระแสความยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เติบโตต่อเนื่อง และเริ่มเข้ามาทดแทนยานยนต์ใช้น้ำมันทั่วโลกมากขึ้น หลายประเทศตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรถ EV เช่น จีนตั้งเป้าให้ 1 ใน 4 ของรถยนต์ทั้งหมดที่ขายในปี 2568 เป็นยานยนต์ไฮบริดและไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกัน International Energy Agency (IEA) ประมาณการว่ายอดขาย EV ทั่วโลกจะมีสัดส่วน 60% ของยอดขายยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573
2. SHEconomy อีกหนึ่งกลุ่มตลาดผู้บริโภคที่มาแรง เนื่องจากปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในโลกธุรกิจและเป็นกลุ่มที่กำลังซื้อสูง โดยในปี 2564 พบว่า CEO หญิงทั่วโลกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 26% จากเดิม 15% ในปี 2558 นอกจากนี้ ภายในปี 2573 คาดว่าราวครึ่งหนึ่งของผู้หญิงอายุ 25-44 ปีจะเป็นโสด ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่จับจ่ายใช้สอยมาก โดย SHEconomy ในจีนถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ สะท้อนจากยอดชอปปิ้งของสาวจีนในปี 2565 มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 6% ของ GDP สินค้าที่มีโอกาสในการเจาะตลาดกลุ่มนี้ ได้แก่ เครื่องสำอาง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและลดเลือนริ้วรอย เครื่องแต่งกาย สินค้าแฟชั่น
3. Silver Economy อย่างที่ทราบกันดีว่าหลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นที่คาดว่าภายในปี 2583 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า โลกจะมีผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) ราว 2,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากร ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศในยุโรป และบางประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคหลักในอนาคต ความน่าสนใจของ Silver Economy พบว่ากำลังซื้อของกลุ่มผู้สูงวัยสูงกว่าค่าเฉลี่ยคนทุกกลุ่ม โดย Bruegel สถาบันวิจัยชั้นนำของยุโรประบุว่าผู้สูงวัยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 14,500 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทุกวัย 20% ซึ่งอยู่ที่ราว 12,300 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าตลาด Silver Economy ของยุโรปมีขนาดใหญ่อยู่ที่ราว 450 พันล้านยูโร (เกือบครึ่งหนึ่งของ GDP สวิตเซอร์แลนด์) สินค้าที่มีโอกาสในการทำตลาด ได้แก่ Smart Wheelchair, Smart Home Devices, หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เครื่องช่วยฟัง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่
เพื่อให้ผู้ประกอบการพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ ดร.รักษ์ จึงเสนอ กลยุทธ์ 4 ป “ปรับ เปลี่ยน เปิด ป้องกัน” ดังนี้
• ปรับองค์กร...ให้อัปเดตทันโลก เช่น ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจ ทำองค์กรให้ Lean และ Resilience ครบทุกด้าน ทั้งด้านบุคลากร (People) กระบวนการทำงาน (Process) และ Platform ให้ดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ปรับสมการธุรกิจสู่ People + Planet + Productivity ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่กำไรอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับคน (People) เป็นอันดับแรก ทั้งในส่วนของลูกค้าและพนักงาน ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงโลก (Planet) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกที่ดีขึ้น พร้อมทั้งการดูแลสังคมและชุมชนให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน ขณะเดียวกันก็ต้องให้บริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด (Productivity) เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า
• เปลี่ยนแผนธุรกิจให้ทันสถานการณ์อยู่เสมอ เช่น เปลี่ยนแผนให้สั้นเป็น 3 เดือนหรือ 6 เดือน ไม่ทำแผนยาวแบบ 3 ปีหรือ 5 ปี เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนเร็วและมีความผันผวนตลอดเวลา มีแผนสำรอง Plan A, Plan B ต้องมีแผนสำรองเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤต เช่น แตกไลน์การผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ Next Normal การเตรียม EXIT Strategy เช่น การขายกิจการหรือควบรวมกิจการ (M&A)
• เปิดช่องทางใหม่...สู่ตลาดโลก เช่น มีช่องทาง E-Commerce ตอบโจทย์โลกการค้ายุคใหม่และเข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว รู้จักใช้ Social & Digital Marketing หรือเครื่องมือในการทำการตลาดออนไลน์
• ป้องกันความเสี่ยง...จากความไม่แน่นอน โดยเฉพาะค่าเงินที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น FX Forward อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจจาก ธปท. ระบุว่าผู้ส่งออก SMEs เกือบ 70% ยังไม่ทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางการค้าอื่น ๆ เช่น ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้า/ปฏิเสธการรับมอบสินค้า ซึ่งตรงนี้บริการประกันการส่งออกจาก EXIM BANK สามารถการันตีได้ว่าหากคุณส่งออกไปแล้วจะได้เงินแน่นอน
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังจึงเดินหน้าขยายบทบาทการเป็นผู้นำ (Lead Bank) ที่ “กล้า พัฒนาเพื่อคนไทย (One Step Ahead for All Development)” สร้างนักรบเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในเวทีโลก โดยใช้ 3 เครื่องมือใหม่ ได้แก่
1. บริการสร้างตัวตนแบบครบวงจรให้ SMEs ไทยในเวทีโลก ด้วยเครื่องมือทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน ตั้งแต่การให้ข้อมูล บ่มเพาะ อบรมสัมมนา และให้บริการทางการเงินที่ครบถ้วน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการต้นน้ำอย่างเกษตรกรตั้งแต่ระดับวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ และผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองจนมีที่ยืนได้ในเวทีโลก
2. บริการสร้างโอกาสการลงทุนในต่างแดน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางที่มีศักยภาพ (Amazing M) ในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างฐานการผลิตและขยายเครือข่ายทางการค้า
3. บริการยกระดับธุรกิจไทยสู่ BCG Model มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยตั้งแต่รายย่อย รายกลาง ไปจนถึงรายใหญ่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ร่วมขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจ BCG ในประเทศไทย เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลก โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนด้านเงินทุนและพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนธุรกิจ BCG ของไทย
“EXIM BANK กล้า พัฒนาเพื่อคนไทย เป็นจุดยืนของ EXIM BANK ที่ก้าวไปสู่โลกยุค Next Normal ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนไทย ทำหน้าที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐโดยตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า ผู้ประกอบการ และประชาชน เริ่มตั้งแต่ความกล้าสร้างตัวตนผู้ประกอบการต้นน้ำ ผลักดันผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพให้บุกตลาดต่างแดนมากขึ้น และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยทุกระดับให้มุ่งสู่โมเดลธุรกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน บรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความพร้อมของบุคลากรในการพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเดินไปด้วยกันกับลูกค้า ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน” ดร.รักษ์ กล่าว