นักวิจัยไทย คิดค้นชุดตรวจเชื้อแบคทีเรียเนื้อไก่สดแบบ ATK สำเร็จ! ลดเวลาการตรวจจาก 1-2 วัน เหลือ 1 ชั่วโมง ความแม่นยำ 98% เตรียมต่อยอดใช้จริงกับโรงงานไก่
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รายงานศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม (Applied Science and Engineering for Social Solution Research Center: ASESS Research Center) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คิดค้น “นวัตกรรมชุดตรวจวัดเชื้อซาลโมเนลลาแบบรวดเร็วสำหรับอุตสาหกรรม” (Pathogen Seeker Kit) ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ สาขาผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566
ซาลโมเนลลา (Salmonella) เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบจะพบในสัตว์ปีก ซึ่งหากไม่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และอื่นๆ ตามมา ดังนั้น การตรวจหาเชื้อซาลโมเนลลาในเนื้อไก่ดิบ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ส่งออกไก่ดิบไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากเป็นเกณฑ์มาตรฐานการส่งออก หากตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลาแม้เพียงเซลล์เดียว ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ดิบทั้งหมดจะต้องถูกส่งกลับ
ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อเชื้อซาลโมเนลลาจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 วัน แต่ด้วยนวัตกรรมชุดตรวจวัดเชื้อซาลโมเนลลาแบบรวดเร็วที่ทางทีมวิจัยคิดค้นขึ้นนี้ สามารถลดระยะเวลาของการตรวจแบบรวดเร็ว จาก 1-2 วัน เหลือเพียง 1 ชั่วโมง โดยนำเทคนิคการวิเคราะห์สัญญาณทางแสงมาใช้ตรวจวัดเชื้อซาลโมเนลลา สามารถตรวจพบเชื้อได้แม้มีปริมาณเชื้อน้อย (9 CFU/ml) และมีค่าความถูกต้อง 97% และความแม่นยำ 98% ซึ่งสูงมากสำหรับวิธีการตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid test)
ขณะนี้ ทีมวิจัยกำลังดำเนินการทำความร่วมมือผู้ประกอบการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็ง เพื่อขยายผลจากงานวิจัยสู่การใช้จริงภายในโรงงาน และได้ร่วมกับทีมวิจัยเทคโนโลยีเซนเซอร์แสงไฟฟ้าเคมี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการวิจัยและพัฒนาเครื่อง Raman Spectrometer ขึ้นเองเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งของประเทศไทย