โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สช.ผนึกภาคี เปิดเวที Policy Dialogue ครั้งที่ 4 ตีแผ่สถานการณ์ ‘เด็กเกิดน้อย’ หวังสร้างระบบรองรับ ‘ครอบครัว-เด็กแรกเกิด’ จัดทำข้อเสนอเชิงนโย

เวทีสนทนานโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 4 สช. จับมือภาคีเครือข่าย รวม 7 หน่วยงาน เปิดพื้นที่กลางแก้ปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย’ ร่วมสังเคราะห์แผนสภาพัฒน์ฯ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนงานจริง ก่อนรวบรวมเป็นเชิงนโยบายสู่ ‘รัฐบาล’ ในฐานะวาระแห่งชาติที่ต้องสานพลังแก้ไข ‘นพ.ประทีป’ ชี้ ต้องสร้างระบบรองรับเด็กแรกเกิด เพื่อให้การเกิดไม่เป็นภาระของครอบครัว-ตัวเด็กในอนาคต

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ หรือ Policy Dialogue ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย ปัญหาและทางออก” เพื่อฉายภาพสถานการณ์โครงสร้างประชากร ผลพวงจากปัญหาเด็กเกิดน้อย ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหา หลังพบว่าปี 2564 ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด และรัฐบาลเตรียมประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ณ หอประชุมศุทรีย์ แก้วเจริญ ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.)

 

 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยจะส่งผลโดยตรงกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบในวงกว้าง การแก้ไขปัญหาจึงจะมีความยุ่งยากมากกว่าเมื่อ 30 ที่แล้ว ที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเด็กเกิดมาก-ประชากรขยายตัวเร็ว ซึ่งขณะนั้นใช้มาตรการทางสาธารณสุข การคุมกำเนิด ฯลฯ เข้ามาแก้ไขได้ แต่ปัญหาเด็กเกิดน้อยตรงกันข้าม คือไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมิติทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว จึงนำมาสู่การจัดเวทีสนนทนาสาธารณะเพื่อแสวงหาความร่วมมือ แสวงหาทางออก และรวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาล ตลอดจนการจัดตั้งเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

นพ.ประทีป กล่าวว่า วันนี้โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป เราก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในขณะเดียวกันคนในปัจจุบันกลับไม่ต้องการมีบุตร ส่งผลให้เด็กเกิดน้อย ในอนาคตจะเกิดปัญหาทั้งด้านแรงงาน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแบกรับสังคมสูงวัย ฯลฯ ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ นอกจากจะต้องแสวงหาแนวทางทำให้เด็กเกิดมากขึ้นแล้ว ยังต้องมีระบบรองรับเพื่อให้เด็กที่เกิดขึ้นมาแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจริญเติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาวะดี

นพ.ประทีป กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ‘การสร้างระบบรองรับ’ เพื่อให้การเกิดไม่เป็นภาระของครอบครัว และช่วยให้พ่อแม่มีความมั่นใจว่าเมื่อลูกเกิดมาแล้วจะมีความปลอดภัย เจริญเติบโตในประเทศนี้ได้อย่างมั่นคง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ได้ให้ความสนใจและแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา และผลักดันในเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ

“ในเรื่องนี้ทางสภาพัฒน์ฯ มีแผนและแนวทางการขับเคลื่อนอยู่ แต่ถ้าจะผลักดันให้ได้ผลจำเป็นต้องมีหน่วยงานมาช่วยกันขับเคลื่อน ในวันนี้เราจึงเอาแผนของสภาพัฒน์ฯ มากาง แล้วร่วมกันวิเคราะห์ ออกแบบการทำงานในเชิงระบบ ซึ่งวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสานพลังแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง” นพ.ประทีป กล่าว

 

 

นางพรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวชี้วัดหนึ่งคือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนเศรษฐกิจในขณะนั้นๆ โดยดัชนีเหล่านี้มาจากผลการดำเนินธุรกิจของธุรกิจในประเทศไทยทั้งหมด

“โครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลต่อการลดลงของประชากรในวัยแรงงาน และเมื่อสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ตรงนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและจะสะท้อนออกมาผ่านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการเตรียมการรับมือจึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ฉะนั้นพลังจากหลายภาคส่วนจึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้” นางพรรณวดี กล่าว

 

 

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวบรรยายสรุปภาพรวมโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป และปัญหาไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย” ตอนหนึ่งว่า โครงสร้างประชากรไทยในขณะนี้ จำนวนเด็กและแรงงานจะลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยที่มีจำนวนสูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต สะท้อนถึงสัดส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้น และเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีอัตราการตายมากกว่าการเกิด คือตาย 563,650 คน และเกิด 544,570 คน กล่าวคือมีการตายมากกว่าเกิด 19,080 คน

นอกจากนี้ พบว่าภาระพึ่งพิงเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2556 มีสัดส่วน 39% ของประชากรวัยแรงงาน ขณะที่ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 44% ของประชากรวัยแรงงาน มากไปกว่านั้น มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2583 เด็กปฐมวัยจะมีจำนวนลดลงถึง 1.2 ล้านคน (ปี 2566 มีเด็กปฐมวัย 4.3 ล้านคน แต่ในปี 2583 จำเหลือ 3.1 ล้านคน) ส่วนมิติคุณภาพชีวิตเด็ก พบว่าเด็กแรกเกิดอายุต่ำกว่า 6 เดือน ได้รับนมแม่อย่างเดียวเพียง 28.6% และข้อมูลปี 2564 มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่อยู่ในครัวเรือนยากจน 3.52 แสนคน

น.ส.วรวรรณ กล่าวต่อไปว่า ความท้าทายในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของ Generation ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและโครงสร้างครอบครัว โดยในอนาคตประชากรรุ่นใหม่จะเพิ่มมากขึ้น มีค่านิยมแต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสดมากขึ้น ที่สำคัญคือการมีลูกไม่ใช่เป้าหมายลำดับต้นๆ ของคนรุ่นใหม่ ส่งผลต่ออัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงในอนาคต และในอนาคตมีแนวโน้มที่ประชากรรุ่นใหม่จะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ไม่มีบุตรหลานพึ่งพิง

 

 

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในเรื่องปัญหาการขาดแคลนคนวัยแรงงาน นำไปสู่ความท้าทายทางการคลังของประเทศ การเกิดน้อยจะส่งผลให้จำนวนวัยแรงงานในอนาคตลดลง ซึ่งในระยะยาวจะทำให้การจัดเก็บภาษีรายได้น้อยลง ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายต่อการคลังของประเทศ พร้อมกันนี้ในระยะยาว ส่วนต่างระหว่างรายรับและรายจ่ายทางสังคม มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย

“ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญหลังจากนี้ ประการแรกคือการสร้างรากฐานที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต ทั้งมิติครอบครัว การศึกษา ประการถัดมาคือการพัฒนาประชากรให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การยกระดับการพัฒนาคนด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมการ Upskill-Reskill การขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ และประการสุดท้ายคือปรับรายได้ยามชราภาพให้เพียงพอ เช่น การส่งเสริมการออมภาคบังคับ การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี” น.ส.วรวรรณ กล่าว