การที่กิจการดำเนินการจนเข้มแข็งแล้วในระดับหนึ่ง SMEมักคิดถึงการขยายกิจการ หลายธุรกิจไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้มักมีสาเหตุมาจากเงินลงทุนไม่เพียงพอ การขยายสาขาจึงเป็นเรื่องยาก ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจมีอนาคตสดใส หากกิจการของท่านอยู่ในสถานการณ์นี้ การนึกถึงการขยายธุรกิจด้วยการสร้างระบบแฟรนไชส์เป็นของตัวเอง ก็อาจเป็นอีกคำตอบหนึ่ง
แต่การจะขยายธุรกิจด้วยการสร้างแฟรนไชส์ก็ต้องมีขั้นตอนในการจัดตั้ง และนี่คือขั้นตอนต่าง ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม
1.ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ เราต้องศึกษาตลาดก่อนว่าขนาดของตลาดเป็นอย่างไร มีอัตราการเติบโตที่เหมาะสมที่จะเป็นแรงจูงใจให้กับการสร้างแฟรนไชส์หรือไม่ สภาวะของคู่แข่งเป็นอย่างไร ธุรกิจที่เหมาะจะก่อตั้งแฟรนไชส์ได้นั้น ต้องมีคู่แข่งน้อย มีจุดเด่นและมีความเข้มแข็งของแบรนด์ มีอัตราการเติบโตของธุรกิจอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าเลขสองหลัก
2.เข้าใจและตั้งค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม ธุรกิจที่จะสร้างแฟรนไชส์จะต้องประเมินค่าใช้จ่ายงบลงทุนของแฟรนไชส์ซีให้รอบด้าน เพื่อที่จะตั้งค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม อย่าลืมว่าแฟรนไชส์ซีเขาแบกต้นทุนหลายด้านไม่ต่างจากตอนที่เราตั้งกิจการ ถ้าหากต้นทุนของเขามากจนไม่สามารถบริหารให้คุ้มทุนได้ โอกาสที่เราจะขายแฟรนไชส์ก็ยากขึ้น
3.วางแผนด้านการสร้างแบรนด์และจัดกระบวนการบริหารงาน เจ้าของแบรนด์ควรมีการจัดการร้านให้เป็นระบบ มีมาตรฐานเป็นที่น่าเชื่อถือ ถ้าหากเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร การผ่านมาตรฐานต่าง ๆ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแฟรนไชส์ซีก็ต้องทำ ในการสร้างระบบและขั้นตอนการทำงานนั้นต้องละเอียด เข้าใจง่ายและทำเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้ทำเฉพาะอยู่บนเอกสารเท่านั้น เราควรให้รายละเอียดงานเหล่านี้ปรากฏอยู่บนโลกดิจิทัลด้วย
4.การวางแผนด้านเครือข่ายและกลยุทธ์ SMEที่จะสร้างแฟรนไชส์ได้ประสบความสำเร็จทั้งตนเองและผู้ที่จะมาซื้อแฟรนไชส์นั้น ต้องมีการวางแผนด้านเครือข่ายและกลยุทธ์ เราต้องจัดการด้านเครือข่ายว่าจะให้มีจำนวนเท่าไหร่ แต่ละเครือข่ายจะมีรอบรัศมีอย่างไร เพื่อให้เขาไม่แย่งทำเลกันเอง ไม่เพียงแต่พิจารณาระหว่างเครือข่ายของคู่ค้าเราเองเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาทำเลเผื่อไปถึงการแข่งขันกับแบรนด์อื่นด้วย คุณต้องมีการวางแผนด้านกลยุทธ์ในการขยายเครือข่าย ตลอดจนกลยุทธ์ในการสนับสนุนให้คนที่มาซื้อแฟรนไชส์ได้เติบโตในธุรกิจของคุณ
5.สร้างร้านต้นแบบ อย่าลืมว่าการขายแฟรนไชส์เป็นการขายระบบพร้อมกับความน่าเชื่อถือ ดังนั้นคุณควรมีการจัดตั้งร้านตัวอย่างให้กับผู้ที่จะซื้อแฟรนไชส์ได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้และทำความเข้าใจ ในร้านตัวอย่างนี้คุณต้องทำให้เป็นไปตามแบบแผนความฝันที่คุณต้องการ จัดแต่งร้านให้มีเอกลักษณ์สร้างความแข็งแกร่งในแบรนด์ ระลึกอยู่เสมอว่าร้านนี้จะเป็นต้นแบบของการขายแฟรนไชส์
6.การสร้างเอกสารสัญญาแฟรนไชส์ ความผูกพันระหว่างแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีที่จะมีต่อกันคือสัญญาที่ทำร่วมกัน ผู้สร้างแฟรนไชส์ควรมีการออกแบบสัญญาและสัญญาที่ดีควรยุติธรรมและก่อประโยชน์ในการสร้างอนาคตทางธุรกิจร่วมกันของทั้งสองฝั่ง ซึ่งผู้ที่ไม่มีประสบการณ์สามารถหาบริษัทที่ปรึกษามาให้คำแนะนำในส่วนนี้ได้
7.สร้างกระบวนการคัดเลือกแฟรนไชส์ซี ธุรกิจที่ขยายด้วยระบบแฟรนไชส์ได้ประสบความสำเร็จนั้น เราจำเป็นต้องมีระบบการคัดเลือกแฟรนไชส์ที่เข้มแข็งด้วย ยิ่งถ้าหากแบรนด์เรามีความเข็มแข็งมากเทาไหร่ ก็ยิ่งมีคนอยากเข้าซื้อแฟรนไชส์เรามากขึ้นเท่านั้น อย่าลืมว่าหากเราเลือกไม่ดี เขาจะนำแบรนด์ของเราไปทำลายให้เสียหายหรือลดความน่าเชื่อถือได้ นอกจากนี้การเป็นคู่ค้ากันระหว่างแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีที่ไม่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ย่อมนำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ไม่น่าเชื่อถือต่อไป
8.ระบบการฝึกอบรม แม้ว่าคุณจะมีแบรนด์ที่แข็งแรง มีระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพและง่ายต่อความเข้าใจ แต่คุณไม่มีระบบการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอด DNA ธุรกิจของคุณไปสู่ผู้ที่จะซื้อแฟรนไชส์ การขายหรือสร้างแฟรนไชส์ของคุณก็มีโอกาสที่จะล้มเหลว ต้องไม่ลืมว่าการซื้อแฟรนไชส์นั้นเป็นมากกว่าการซื้อขายธรรมดา แต่เป็นคู่ค้าคู่ธุรกิจที่จะสร้างอนาคตร่วมกันเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ที่คุณต้องมี ต้องเตรียมพร้อม หากต้องการที่จะสร้างให้ธุรกิจของคุณขยายต่อไปด้วยการขายและสร้างระบบแฟรนไชส์