โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

EXIM BANK นำโมเดล Green Development และคลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็กสัญจร จ.น่าน แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน สร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน

ปัญหาหนี้ครัวเรือน กำลังเป็นภัยเงียบที่เป็นปัญหาใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ บั่นทอนศักยภาพการเติบโตและนำไปสู่ปัญหาสังคม คนไทย 1 ใน 3 (กว่า 22 ล้านคน) มีสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับจากปี 2560-2565 โดยสัดส่วนหนี้ต่อครัวเรือนของคนไทยสูงกว่าประเทศในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย ข้อมูลของ Trading Economics ระบุว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยติดอันดับ 7 ของโลก ธนาคารพาณิชย์เอกชน ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนด้วยการกำหนดมาตรการการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมและพยายามหาแนวทางช่วยลดปัญหาหนี้เรื้อรังในภาคครัวเรือน

 

 

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หนึ่งในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้สินในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีอัตราการเร่งตัวสูงนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน บั่นทอนให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพและทำให้ SMEs ขาดเงินทุนหมุนเวียน จึงได้เริ่มนโยบาย “EXIM เพื่อการเงินในชุมชน” ขึ้น เพื่อให้ความรู้และคำปรึกษาด้านการเงินและแนะนำการทำบัญชีครัวเรือนให้ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจเพื่อการส่งออกและนำเข้า แนวคิดด้านการสืบสานธุรกิจให้เดินต่อไปได้ เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลธุรกิจระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ ๆ ที่ต่อยอดจากแต้มต่อทางธุรกิจเดิมที่มีเพื่อสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ EXIM BANK ยังริเริ่มโครงการ “คลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็ก” ตรวจสุขภาพทางการเงิน ให้คำปรึกษาทางธุรกิจอย่างครบวงจร อาทิ การปรับแผนธุรกิจ การบริหารจัดการทางการเงิน และการให้คำปรึกษาด้านการปรับโครงสร้างหนี้ แก้ไขหนี้เสีย และเติมเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางให้สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ตามความสามารถและเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกได้

 

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ทั้ง 2 โครงการเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็น CSR ในกระบวนการทำงาน (CSR in process) และนอกกระบวนการปฏิบัติงาน (CSR after process) ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการต่อเนื่อง เริ่มต้นจากชุมชนกลุ่มเปราะบางในเขตพญาไทและขยายผลสู่สังคมมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ดำเนินโครงการสัญจรไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในปี 2566 EXIM BANK ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ชุมชนห้วยน้ำเพี้ย บ.เชตวัน ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน ทำโครงการ “ชุมชนเข้มแข็ง ความเป็นอยู่ยั่งยืน” ให้ความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนกับชาวบ้าน ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องหนี้ครัวเรือนกับชาวบ้าน ต.สันทะ จำนวนกว่า 50 คน โดยแนะนำว่า ครัวเรือนไม่ควรมีหนี้เกิน 70% ของรายได้ทั้งหมด เช่น หากมีรายได้เดือนละ 10,000 บาท ไม่ควรมีหนี้เกิน 7,000 บาท
“ตัวอย่างคือ ถ้าหากมีรายได้เดือนละ 10,000 บาท แต่มีหนี้ 100,000 บาท ต้องจ่ายเดือนละ 15,000 บาท จึงจะชำระหนี้หมดภายใน 10 ปี ปัจจุบันเกษตรกรไทย 60% มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 500,000 บาท หากทิ้งหนี้จำนวนนี้ไว้ 5 ปี ไม่ชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หนี้จะพุ่งสูงขึ้นเป็น 1,200,000 บาท ในขณะที่ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาท แต่หนี้จำนวน 500,000 บาท หากจะให้ชำระหมดใน 5 ปีจะต้องใช้เงินต้นและดอกเบี้ยเดือนละ 20,000 บาท จึงจะใช้ได้หมดตามกำหนดเวลา รายได้เดือนละ 6,000 บาท แต่ต้องจ่ายหนี้เดือนละ 20,000 บาท มันเป็นไปได้ยาก” ดร.รักษ์ กล่าว

 

 

ดร.รักษ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องเริ่มจากการปลูกต้นออม หากมีรายได้ 100 บาท ควรแบ่งเงินเป็นสัดส่วนโดย 50% คือ รายจ่ายที่จำเป็นสำหรับชีวิต 30% คือ รายจ่ายเพื่อความสุขของตัวเอง อีก 20% คือ การออม หากเรามุ่งมั่นที่จะสร้างเงินออม จะต้องลดสัดส่วนการใช้ความสุขส่วนตัว นำเงินส่วนนี้ไปออมเพิ่ม และหากจำเป็นต้องเป็นหนี้ ควรจะกู้เพื่อซื้อเครื่องมือทำกิน เช่น เครื่องยนต์การเกษตร รถยนต์ที่จะใช้บรรทุกผลผลิตไปขาย

นอกจากนี้ จะต้องสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มใน จ.น่าน เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดและยางพารา ซึ่งพืช 2 ชนิดมีราคาขึ้นลงตามการรับซื้อของพ่อค้า ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตและชำระหนี้ ต้องเพิ่มการปลูกพืชหรือทำอย่างอื่นที่สร้างรายได้มากกว่าเดิม จึงจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ขณะนี้มีเกษตรกรรวมตัวกันเลี้ยงผึ้งป่าและปลูกกะหล่ำปลี ก็ต้องพัฒนาพืชผักให้ปลอดสารพิษ เพื่อทำให้ขายได้ราคาดีกว่า

นางบุษบา แก้วเดช ชาวบ้าน ต.สันทะ อายุ 47 ปี กล่าวว่า ความรู้เรื่องหนี้ที่ EXIM BANK แนะนำเป็นความรู้ที่เข้าใจไม่ยากและสามารถนำมาปฏิบัติได้ จากเดิมที่ไม่เคยมีหลักคิดว่าจะแก้ไขหนี้อย่างไร ทั้งนี้ชาวบ้านมีทางเลือกน้อย ทำได้แค่ปลูกข้าวโพด ยางพารา และกะหล่ำปลี ไม่มีรายได้ทางอื่น

นายสุรพล แสนย่าง อายุ 42 ปี ทำอาชีพปลูกข้าวโพดและกะหล่ำปลี เปิดเผยว่า มีหนี้ 300,000 บาท มีรายได้จากการปลูกพืชเดือนละ 6,000 บาท มีรายได้ตามราคาผลผลิต ซึ่งขึ้นอยู่กับน้ำ หลักการแก้ไขหนี้ฟังเข้าใจและไม่ยากเกินไป ที่ผ่านมาคำนวณไม่เป็นและไม่รู้ว่าควรจะกำหนดสัดส่วนรายรับรายจ่ายอย่างไร

โครงการ “คลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็กสัญจร จ.น่าน” ได้ให้คำปรึกษากับ น.ส. เบญญาภา ขัติยะ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งป่า ที่ขอคำปรึกษาเพื่อยกระดับสินค้าน้ำผึ้งป่าให้เป็นสินค้าส่งออกและ น.ส. แสงจันทร์ อำนวยผล เจ้าของฟาร์มรักษ์หอยเชอรี่สีทองใน ต.สันทะ ที่อยากขยายตลาดหอยเชอรี่สีทองให้มีแหล่งจำหน่ายได้มากขึ้น

ดร.รักษ์ กล่าวว่า การช่วยเหลือให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมเป็นการต่อยอดสร้างรายได้ให้มีความสามารถชำระหนี้ได้มากขึ้นแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ระดับหนึ่ง ซึ่ง EXIM BANK จะสานพลังกับพันธมิตรอย่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ช่วยพัฒนาน้ำผึ้งป่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีคุณสมบัติทางโภชนาการและคุณสมบัติทางยา ส่วนหอยเชอรี่สีทองต้องพัฒนาโดยแปรรูปสินค้า นอกเหนือจากการบริโภคสด

 

 

“EXIM BANK มีลูกค้าเป็นผู้ผลิตน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งครบวงจรอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ธนาคารจะติดต่อให้กลุ่มเกษตรกร จ.น่าน ขึ้นไปเรียนรู้เทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้งและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด เรียนรู้ ฝึกฝนดำเนินการอีกหลายขั้นตอน เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ส่งออกได้ สำหรับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ EXIM BANK มีความร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อยู่แล้วในการช่วยออกแบบให้ทันสมัยและดึงดูดใจลูกค้า หากยังส่งออกไม่ได้ อาจจะยกระดับเป็นสินค้าโอทอปส่งขายในตลาดที่กว้างขึ้นไปก่อน” ดร.รักษ์ กล่าว

ในการแก้ไขปัญหาหนี้และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนแก่ชุมชน EXIM BANK ได้สานพลังกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การบริหารส่วนตำบลสันทะ (อบต.สันทะ) ร่วมกิจกรรม “ค่ายวิศวพัฒน์” ลงพื้นที่สร้างแหล่งน้ำ ฝายกักน้ำ ฝายดักตะกอน ฝายน้ำบริโภค ให้กับชาวบ้านในพื้นที่สูง เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านชุมชนห้วยน้ำเพี้ย ให้ปลูกไม้ผลยืนต้นที่มีผลผลิตขายได้ราคาดี ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและการเผาตอซังจากการทำไร่ข้าวโพด

ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ได้สนับสนุนแผงโซลาร์เซลล์เพื่อนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับเครื่องสูบน้ำเพื่อผันน้ำขึ้นสู่ที่สูง ส่งผลให้พื้นที่มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะการผันน้ำขึ้นไปกักเก็บเป็นบ่อและขยายการใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำด้วยการเลี้ยงปลาเพื่อบริโภค และต่อยอดเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในอนาคต รวมทั้งใช้โซลาร์เซลล์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในศูนย์การเรียนรู้บ้านดิน เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการสร้างที่อยู่อาศัยและใช้พลังงานสะอาดเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนแผงโซลาร์เซลล์จากลูกค้าธนาคาร ได้แก่ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุน Solar Panels ขนาด 240 W จำนวน 42 แผ่น รวม 10 kW & Inverter ขนาด 5 kW จำนวน 2 เครื่อง และบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สนับสนุน Solar Panels จำนวน 20 แผ่น รวม 6.5 kW

“ชุมชนห้วยน้ำเพี้ยเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งหนักเป็นเวลานาน ทำให้พื้นดินปลูกพืชไร่ได้เพียงปีละครั้ง ผลผลิตขายได้ราคาต่ำ ดินเสียจากการใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และเผาตอซังข้าวโพดเป็นเวลานาน เกิดปัญหาเกษตรกรบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเคลื่อนย้ายพื้นที่ปลูกพืชไร่ การนำโมเดล Green Development ไปใช้สร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น โดยสอดคล้องกับบทบาท Green Development Bank ช่วยให้ชุมชนมีทั้งไฟฟ้าและน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้ตลอดปี แก้ปัญหาภัยแล้ง ลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากดินเสียและมลพิษ สร้างโอกาสให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างเป็นบูรณาการและยั่งยืน เนื่องจากเกษตรกรสามารถปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผลอื่น ๆ เช่น ทุเรียน โกโก้ อะโวคาโด อินทผลัม เพื่อการบริโภคและสร้างรายได้ครัวเรือนได้มากขึ้น และผลผลิตมีมูลค่าสูงกว่าพืชไร่” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าว

 

 

รศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้จัดกิจกรรมค่ายวิศวพัฒน์ตั้งแต่ปี 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มูลนิธิโครงการหลวง กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และในปีนี้ได้ EXIM BANK ร่วมเป็นพันธมิตรในการจัดหาโซลาร์เซลล์และจะร่วมมือกันอีกในระยะถัดไปเพื่อช่วยกันสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

“นับเป็นโครงการที่สร้างชุมชนเข้มแข็งและความเป็นอยู่ยั่งยืนที่แท้จริง โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นพืชอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่าไปได้ 100 ไร่แล้วและหวังว่าโครงการร่วมมือลักษณะนี้จะช่วยลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่ทำลายดิน สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งชาวชุมชนห้วยน้ำเพี้ยอยากจะพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอนาคต ค่ายวิศวพัฒน์สร้างบ้านดินเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่และจะสร้างเพิ่มขึ้นให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อีกในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้ “คนคืนถิ่น” ทำให้กลุ่มเปราะบาง เช่น สตรีที่เคยออกไปทำมาหากินต่างถิ่นกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพเกี่ยวเนื่อง เช่น เลี้ยงผึ้งเพื่อเก็บน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผึ้ง ฟาร์มหอยเชอรี่สีทอง ระหว่างรอไม้ผลให้ผลผลิต” รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

Tags: EXIM BANK