กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม กำลังพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสุด ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ..." เพื่อปรับปรุงเพดานค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูง ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ของผู้ประกันตนมาตรา 33 อัตราใหม่ ซึ่งอาจทำให้มนุษย์เงินเดือนต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น ซึ่งจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ข้อมูลอัปเดต ณ เดือนตุลาคม 2566 มีจำนวน 11,833,086 คน
โดยร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยจะมีการปรับฐานสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป สูงสุดไม่เกิน 23,000 บาท กำหนดอัตราใหม่ ตามกรอบเวลาแบบขั้นบันได 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท จะจ่ายประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท
- ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท
- ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท
ในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้เพิ่มขึ้น มีดังนี้
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำเข้ากองทุน
- เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน
สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ
ตัวอย่างผลประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ในปี 2567
- เงินทดแทนกรณีว่างงาน ผู้ประกันตนที่ค่าจ้างมากกว่า 17,500 บาท จะส่งเงินสมทบเดือนละ 875 บาท (เดิม 750 บาท) และจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เงินทดแทนขาดรายได้กรณีว่างงานเพิ่มเป็นเดือนละ 8,750 บาท (เดิม 7,500 บาท) เป็นต้น
- เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย เพิ่มเป็น 292 บาท/วัน จากเดิม 250 บาท/วัน
- เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เพิ่มเป็น 8,750 บาท/เดือน จากเดิม 7,500 บาท/เดือน
- เงินสงเคราะห์กรณีลาคลอด เพิ่มเป็น 26,250 บาท/เดือน จากเดิม 22,500 บาท/เดือน
- เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต เพิ่มเป็น 35,000 บาท/เดือน จากเดิม 30,000 บาท/เดือน
- เงินบำนาญ โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี ได้รับเพิ่มเป็น 3,500 บาท/เดือน จากเดิม 3,000 บาท/เดือน ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี ได้รับเพิ่มเป็น 6,125 บาท/เดือน จากเดิม 5,250 บาท/เดือน
สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น จากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ
ทั้งนี้กฎกระทรวงฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2538 จนถึงปัจจุบัน
โดยเหตุผลสำคัญของร่างกฎหมาย หรือกฎหมายใหม่ที่สำนักงานประกันสังคม นำมารับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วย
- เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
- เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้
- เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น
- เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อย ภายในระบบประกันสังคม
- เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม
สำหรับขั้นตอนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อกลางปี 2565 จากนั้นกระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎกระทรวง และนำร่างไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 1 ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย law.go.th เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ร่วมเสนอความเห็นทั้งหมด 55,584 คน เมื่อปิดรับฟังความคิดเห็น จะยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยเป็นเพียงเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนต่อไป จะมีการดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายตามข้อเสนอแนะ โดยเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการ ตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป