โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

EXIM BANK แถลงผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2566 6 เดือน 6 เพิ่มพูน

EXIM BANK แถลงผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2566 เพิ่มทุนผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้น 5.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำไปสู่ยอดคงค้างสินเชื่อ 161,216 ล้านบาท โดยเพิ่มบทบาทพัฒนาประเทศด้วยสินเชื่อการลงทุนที่เป็นสัดส่วน 73% หรือ 117,133 ล้านบาท และเพิ่มกลไกความยั่งยืนสู่สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็น 28% หรือ 45,544 ล้านบาท รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการทุกขนาด ส่งผลให้มีจำนวนลูกค้าเพิ่มเป็น 6,260 ราย นอกจากนี้ ได้เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินสะสมรวมกว่า 26,000 ราย โดยเพิ่มความช่วยเหลือเป็นวงเงินรวมกว่า 91,600 ล้านบาท

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงผลการดำเนินงานเดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 ว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวในระยะสั้น และกำลังปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้าสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก EXIM BANK ยังคงเดินหน้าภารกิจส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งตั้งแต่ฐานราก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมคู่ขนานกัน โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 20,068 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 5,869 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 161,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,708 ล้านบาท หรือ 5.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้วยความมุ่งมั่นดำเนินบทบาท “Green Development Bank” สนับสนุนการพัฒนาประเทศควบคู่กับการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการลงทุน 117,133 ล้านบาท อันเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน โลจิสติกส์ และภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) โดยที่ยอดคงค้างสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีจำนวน 45,544 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 28.25% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด เพิ่มขึ้น 4.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

นอกจากนี้ EXIM BANK มุ่งทำหน้าที่เป็นธนาคารผู้นำ (Lead Bank) สานพลังกับเครือข่ายพันธมิตรที่กว้างขวาง นำพาธุรกิจไทยขยายการค้าการลงทุนไปตลาดต่างประเทศ ทำให้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 60,464 ล้านบาท เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ EXIM BANK ยังสนับสนุนธุรกิจไทยให้ขยายไปกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 ของปี 2566 มีสินเชื่อคงค้างในกลุ่ม CLMV และ New Frontiers 49,435 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30.66% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก EXIM BANK เร่งเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 96,409 ล้านบาท
การมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านสินเชื่อและประกันของ EXIM BANK ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มีจำนวนลูกค้า 6,260 ราย เพิ่มขึ้นถึง 14.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในจำนวนนี้เป็นลูกค้า SMEs มากถึง 84.07% สะท้อนการให้ความสำคัญและอยู่เคียงข้าง SMEs ไม่ทิ้งคนตัวเล็ก ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกยุคใหม่ภายใต้มาตรฐานการค้าโลกที่สูงขึ้น อาทิ ออกสินเชื่อเอ็กซิมยกระดับมาตรฐานยางพาราไทย (EXIM Better Rubber Export Financing) เงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อยางและเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพารา อันเป็นการสนับสนุนการส่งออกอุตสาหกรรมดังกล่าวให้ขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ EXIM BANK ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดอบรมหลักสูตรครบวงจร TOP X Executive Program รุ่นที่ 2 สร้างผู้นำธุรกิจระหว่างประเทศ เจาะลึกแนวทางกำหนดและดำเนินกลยุทธ์บริหารธุรกิจในโลกการค้ายุคใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงตลาดใหม่ เช่น ซาอุดีอาระเบียและประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง เตรียมความพร้อมในการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยเพื่อตอบสนองเทรนด์โลกการค้ายุคใหม่ การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) รวมทั้งการส่งเสริมการค้าออนไลน์ให้ SMEs ค้าขายข้ามพรมแดนได้มากขึ้น ตลอดจนการฝึกอบรม จับคู่ทางธุรกิจ และให้คำปรึกษาด้านการเงิน โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนของปี 2566 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 26,000 ราย วงเงินรวมกว่า 91,600 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 5,861 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 เท่ากับ 3.64% และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 13,509 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 230.47% ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรอง 1,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในครึ่งปีหลังของปี 2566 EXIM BANK ยังคงขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการมุ่งเสริมสร้างธุรกิจ ESG อย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงตามความต้องการ เช่น สินเชื่อ EXIM Green Start กระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ยกระดับธุรกิจให้พร้อมเข้าสู่มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ร่วมบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกและพลิกโฉมภาคการส่งออกไทยให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดย EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินที่เริ่มนำวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของร่าง Thailand Taxonomy มาปรับใช้ในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศ อีกทั้งยังมุ่งมั่นเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือ/นวัตกรรมทางการเงินอย่างครบวงจร (Total Solution) ตอกย้ำบทบาท Green Development Bank มุ่งยกระดับศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจไทยในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

 

Tags: EXIM BANK