ในช่วงฤดูร้อนแบบนี้คงไม่มีอะไรขายดีไปกว่าเครื่องดื่มเย็นๆ ดับกระหาบคลายร้อนในยามที่อุณหภูมิสูงจนแทบจะทนไม่ไหว วันนี้ ชี้ช่องรวย มีอีกหนึ่งอาชีพมานำเสนอ นั่นคือ “ร้านน้ำปั่นเพื่อสุขภาพ” ที่นอกจากจะช่วยดับกระหายคลายร้อนแล้ว ยังสามารถเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพได้อีกด้วย เรามาดูกันเลยว่ามีวิธีการทำธุรกิจนี้อย่างไรบ้าง
1.ก่อนอื่นเราต้องมาดูข้อมูล “รายละเอียดเกี่ยวกับการตลาด” เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเปิดร้าน "น้ำผลไม้ปั่นเพื่อสุขภาพ" ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะมาช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเราเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน เช่น ดูจากจำนวนร้านน้ำปั่นเพื่อสุขภาพในประเทศยังมีโอกาสทางการตลาด และยังสร้างผลตอบแทนในอัตราสูงกว่า 100% ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียงประมาณ 40,000-50,000 บาท และอย่าลืมมองไปถึงอนาคตหากคุณมีแผนที่จะขยายธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ ก็คงต้องมองการณ์ไกลสักนิด
2.ทีนี้เราก็มาดูในเรื่องของ “ปัจจัยเสี่ยง” เพราะธุรกิจร้านผลไม้ปั่นกำลังมาแรง และอาจจะมีคู่แข่งสูง จึงต้องศึกษาทิศทางให้ดี และการเปิดร้านน้ำผลไม้ปั่นจะต้องใช้ผัก ผลไม้สด จึงควรต้องใส่ใจในเรื่องของความสด สะอาดด้วย เพราะหากใช้วัตถุดิบไม่ดี ลูกค้าซื้อไปดื่มแล้วเกิดอาการปวดท้องหรือท้องเสีย จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของร้านในระยะยาวได้
3.สิ่งที่ต้องดูในข้อต่อมา คือ “เงินลงทุน” หากเป็นการเปิดร้านในลักษณะเคาน์เตอร์หรือคีออส พื้นที่ร้านอยู่ที่ 4 ตารางเมตรขึ้นไป ก็จะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 40,000 บาทขึ้นไป (ไม่รวมค่าเช่าสถานที่) หรือหากเปิดเป็นร้านขนาดใหญ่ 100 ตารางเมตรขึ้นไป อาจจะใช้เงินลงทุนสูงขึ้น อยู่ที่ประมาณ 500,000 – 2,000,000 บาท
4."เรียนรู้วิธีการทำเครื่องดื่ม" ข้อนี้สำคัญมาก เพราะก่อนที่คุณจะออกขาย คุณต้องฝึกฝนฝีมือให้รสมือคงที่ และต้องมีความมั่นใจด้วย โดยอาจจะไปเรียนตามสถาบันที่เปิดสอน แล้วนำมาประยุกต์เป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง ซึ่งสถาบันที่สอนมักจะมีการแนะนำข้อมูลที่จำเป็นในการทำธุรกิจเช่นแหล่งวัตถุดิบ การเลือกซื้ออุปกรณ์ให้อยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล
5."หาทำเล" ควรเป็นย่านที่มีคนพลุกพล่าน เช่นอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า แหล่งท่องเที่ยว บริเวณสถานีรถไฟฟ้า หรืออาจะเป็นแหล่งชุมชนต่างๆ
6."เลือกซื้ออุปกรณ์" สิ่งที่สำคัญมากๆ คือเครื่องปั่น และเครื่องคั้นน้ำผลไม้สกัดแยกกาก ควรเลือกเครื่องที่มีกำลังการปั่นสูงเพราะจะทำให้ได้เครื่องดื่มที่เนื้อสัมผัสเนียน และช่วยให้ได้น้ำผลไม้ออกมามาก การสูญเสียต่ำ ช่วยประหยัดต้นทุนในระยะยาว ราคาอยู่ที่ 10,000 – 50,000 บาท
7.เซ็ทเมนู แนะนำว่าควรให้มีหลากหลายเมนู หรือคิดค้นสูตรใหม่เพื่อเพิ่มความหลากหลายและสร้างจุดต่างกับร้านอื่น จะดีมากทีเดียว
8.ตั้งราคา แนะนำว่าในทุกๆ ประเภทของเครื่องดื่มจะตั้งราคาโดยการบวกจากต้นทุนประมาณ 3 เท่า เช่นต้นทุน10 บาท ควรตั้งราคาที่ 30 บาท แต่ในบางทำเลอาจจะตั้งราคาได้มากกว่านั้น เช่น 50-60 บาท เป็นต้น