โอกาสของคนตัวเล็ก

Responsive image

วงจรการเงินของ SME

ผมมีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการ SME ที่ประสบความสำเร็จสามารถผลักดันธุรกิจขนาด Sของตนเองให้กลายมาเป็นธุรกิจขนาด M ได้ในช่วงอายุเดียว และกำลังจะส่งมอบธุรกิจให้กับทายาทเพื่อดำเนินการสร้างความก้าวหน้าและเข้มแข็งต่อไป ประเด็นที่ยกมาคุยกันก็คือ เรื่องหนึ่งที่ SME ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากและเป็นปัญหาต่อการทำธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ ก็คือเรื่อง การบริหารเงินของกิจการ สำหรับธุรกิจ SME แล้ว การบริหารเงิน ส่วนใหญ่ก็จะหมายถึง การบริหารวงจรเงินสด และการบริหารวงจรเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งอาจแตกต่างกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่การบริหารเงิน มักจะเป็นเรื่องของการจัดสรรแหล่งได้มาและแหล่งใช้ไปของเงินทุน ที่ต้องใช้คำว่า “วงจร” มาประกอบกับการบริหารเงินของ SME ก็เนื่องจากในธุรกิจ SME กระแสเงินที่ไหลผ่านกิจการมักจะหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว และมักจะมีรูปแบบและการเดินของการไหลของเงินที่เป็นรอบซ้ำๆ กัน วงจรเงินสด ก็คือ การเปลี่ยนยอดขายสินค้าให้กลายเป็นเงินสด เพื่อที่จะได้นำเงินสดไปชำระคืนแก่เจ้าหนี้การค้าหรือเจ้าหนี้อื่นๆ ของกิจการได้อย่างไม่ติดขัด และสำรองเงินสดเหลือไว้ในกิจการเพื่อให้เพียงพอต่อใช้จ่ายที่สำคัญ เช่น การจ่ายค่าแรงหรือเงินเดือนให้กับพนักงาน เป็นต้น ส่วนวงจรเงินทุนหมุนเวียน จะค่อนข้างซับซ้อนกว่าวงจรเงินสดไปอีกระดับหนึ่ง เพราะจะต้องไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและหนี้สินที่สามารถเปลี่ยนให้เป็นเงินสดได้ง่าย เช่น สินค้าคงเหลือ หากเก็บไว้ไม่ได้ขาย ก็จะถือเป็นทรัพย์สิน แต่ถ้านำไปขายเป็นเงินสด ก็จะได้เงินสดกลับเข้ามาในกิจการ หรือถ้านำไปขายเป็นเงินเชื่อ ก็จะได้ลูกหนี้การค้าเกิดขึ้น และยังจะไม่เปลี่ยนเป็นเงินสดตราบใดที่ยังไม่ได้ไปเก็บหนี้กลับมาให้เรียบร้อย ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ การบริหารเงินสดและเงินทุนหมุนเวียน จะมีผลต่อความสามารถในการสร้างกำไรของธุรกิจได้โดยตรง SME ที่สามารถบริหารให้วงจรเงินสดหมุนเวียนได้รวดเร็ว หรือ SME ที่สามารถบริหารสต๊อคได้ดี บริหารการเก็บเงินจากลูกหนี้ และบริหารการชำระเงินให้กับเจ้าหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ธุรกิจทำกำไรได้ดีกว่าธุรกิจที่ไม่ได้คำนึงหรือไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องของการบริหารการเงินได้ดีพอ ปัญหาที่ SME มักจะต้องเจอเกี่ยวกับการบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพให้กับธุรกิจก็คือ การขาดระบบบัญชีที่ดี ระบบบัญชี ความจริงแล้ว ก็คือการบันทึกความเคลื่อนไหวทางการเงินที่เข้าและออกจากธุรกิจอย่างเป็นระบบนั่นเอง ยิ่งในปัจจุบัน มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถบริหารจัดการการเงินให้เลือกใช้อย่างมากมาย แต่ปัญหาประการสุดท้ายในเรื่องนี้ก็คือ เจ้าของธุรกิจ SME ส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบเรื่องของตัวเลข หรือเรื่องของบัญชี และมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปให้กับการบริหารงานอย่างอื่น เช่น งานขาย หรืองานการผลิต มากกว่าเรื่องการจัดการการเงิน โดยอ้างว่าเป็นความถนัดหรือความชอบส่วนตัว ดังนั้น SME ที่เตรียมตัวสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ หากไม่สนใจหรือไม่ชอบที่จะหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องบัญชีการเงินให้กับตัวเอง ก็จำเป็นที่จะต้องหา “ตัวช่วย” ที่ไว้วางใจได้ มาดูแลในเรื่องการบริหารการเงินให้กับกิจการ ซึ่งหากได้คนที่ดีมาทำหน้าที่นี้ ก็เปรียบเสมือนว่าจะได้กองหลังที่แข็งแกร่ง นำกิจการไปสู่การเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถพัฒนาตัวเองจากขนาด “S” ไปสู่ขนาด “M” ได้อย่างไม่ยากนักในเวลาอันรวดเร็ว