กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) เผย “ขมิ้น” เป็นสมุนไพรที่ต้องจับตามองในปี 62 หลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งการนำไปใช้ผสมในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คาดเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปเจาะตลาด
น.ส.อุษาศรี เขียวระยับ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า รายงานด้านการตลาดเรื่อง HerbalGram Herb Market Report ฉบับล่าสุด
ที่จัดทำโดย American Botanical Council ได้ระบุว่า ขมิ้น หรือ Turmeric (Curcuma longa) เป็นสมุนไพรที่น่าจับตามองในปี 2562 เพราะขมิ้นยังเป็นกระแสนิยมในตลาดสหรัฐอเมริกา มีการนำขมิ้นไปใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มมากขึ้น
“ขมิ้นก้าวกระโดดจากสมุนไพรที่ติดอันดับ 10 ในตลาด Mainstream มาเป็น Top 5 ในปี 2560 และยังเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา นิยมซื้อไปรับประทานในรูปแบบเม็ด แคปซูล และเริ่มนิยมเครื่องดื่มที่มีขมิ้นผสมมากขึ้น ทั้งในผลิตภัณฑ์พร้อมดื่ม หรือในรูปแบบผงเพื่อนำไปผสมน้ำเป็นเครื่องดื่ม”
ทั้งนี้ บริษัท Gaia Herbs ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทค้าปลีกในช่องทาง Natural Channel มีสำนักงานตั้งอยู่ที่รัฐนอร์ท แคโรไลนา ได้ให้ข้อมูลกับทางทีมงาน HerbalGram Herb Market Report ว่า สินค้าขายดีอันดับ 1 ของบริษัท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Turmeric Boost Uplift powder and Golden Milk ซึ่งนำไปผสมเป็นเครื่องดื่ม โดยผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เพื่อใช้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในชีวิตประจำวัน
ส่วนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในหมวดสุขภาพ พบว่า ในปี 2561 ยอดขายของขมิ้นในสหรัฐอเมริกา ยังคงครองตลาดในกลุ่มสำหรับรักษาความเจ็บปวดและอาการอักเสบ (จากข้อมูลการวิจัยตลาดของบริษัท SPINS) ในตลาดค้าปลีกช่องทาง Natural Channel ยังมียอดขายคงที่ แต่เพิ่มขึ้น 20.9% ในช่องทาง Specialty Food Channel และข้อมูลในหมวดสุขภาพสำหรับปัญหาโรคไขข้อ ปรากฏว่า ยอดขายขมิ้นในช่องทางค้าปลีก Conventional Multioutlet Channel เพิ่มขึ้น 32.2% และเพิ่มขึ้น 12.2% ในช่องทาง Natural Channel
นอกจากนี้ ยังพบว่าในสหรัฐอเมริกา มีผู้ประกอบการที่ลงทุนปลูกขมิ้นด้วยตนเอง ปัจจุบันมีฟาร์มปลูกขมิ้นแบบอินทรีย์และขิง ที่รัฐฮาวาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกขมิ้นเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ทั้งในรูปแบบขมิ้นสด ขมิ้นสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์จากขมิ้น
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือช่องทางสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169