ขึ้นชื่อว่า “ชาวนา” ผู้เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของชาติ และเป็นกลุ่มอาชีพที่เรียกว่ายากจนที่สุด แต่เมื่อมาเปรียบเทียบกับชาวนาในประเทศญี่ปุ่นแล้ว เรียกว่าดัชนีความสุขมากกว่าชาวนาไทยมากมายนัก นั่นเพราะเหตุใด
ข้อแตกต่างระหว่างชาวนาไทยกับชาวนาญี่ปุ่น เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดการพัฒนาเกษตรไทยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการให้การศึกษาด้านการเกษตรยุคใหม่ส่งต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปฏิวัติชาวนาไทยให้เป็นอาชีพที่ทรงคุณค่าและสร้างรายได้กลับไปสู่เกษตรกรไทยในอนาคต
จากจำนวนตัวเลขชาวนาที่ประเทศญี่ปุ่นที่มีราว 23 ล้านคน คิดเป็น 22 % ของจำนวนประชากรญี่ปุ่นทั้งหมด เทียบได้กับมนุษย์เงินเดือนระดับกลางที่ทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ มีการทำนาปีละครั้ง แต่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากถึงปีละ 8 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบ 3 ล้านบาทเลยทีเดียว
เรามาดูข้อแตกต่างทั้งด้านความคิดและวิธีการปฏิบัติของชาวนาญี่ปุ่นว่ามีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
1.สาเหตุที่ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นมีรายได้มากมายขนาดนี้ก็เพราะ พวกเขามองการทำนาเป็นการทำธุรกิจ มีความเป็นเจ้าของธุรกิจ ดังนั้น พวกเขาเหล่านี้จึงมีการคิดพัฒนาบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน รวมถึงการพัฒนาผลผลิตไปสู่การต่อยอด การลดต้นทุนถือเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
แตกต่างจากชาวนาไทย ที่ทำนาแบบไม่มีการวางแผน เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ดีไปกว่าการทำนา อีกทั้งรูปแบบการผลิตก็ยังอาศัยฤดูกาล และยังใช้วิธีการปลูกในรูปแบบเดิม ดังนั้น การให้ความรู้แก่ชาวนาไทยจึงนับเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการขาดการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นนำไปยังปลายน้ำ เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดชาวนาไทยจึงยากจน และมีหนี้สินล้นพ้นตัวขนาดนี้
2.ชาวนาญี่ปุ่นจะมองถึงต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตเป็นหลัก เช่น การเก็บรักษาฟางข้าวเพื่อสร้างไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารสำคัญให้กับดิน จะเห็นว่าชาวนาญี่ปุ่นนิยมฝังกลบฟางข้าว ช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดินคิดเป็นอย่างน้อยราว 20 % ซึ่งวิธีนี้ยังสามารถช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้อีกทางหนึ่งด้วย
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยที่นิยมเผาฟางข้าวมากกว่าไถกลบ เพราะมีความเชื่อที่ว่าความร้อนจะสามารถฆ่าวัชพืชหรือศตรูพืชโดยตรงได้ หรือมีความเชื่อว่าเผาฟางแล้วข้าวจะงามดี ซึ่งวิธีการเผาฟางข้าวนี้แน่นอนว่าในช่วงแรกผลผลิตข้าวจะงดงามดี แต่ก็เป็นแค่ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
3.ชาวนาญี่ปุ่นเน้นการให้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน จะมีเติมปุ๋ยวิทยาศาสตร์บ้างในช่วงที่มีความจำเป็นจริงๆ ที่สำคัญชาวนาญี่ปุ่นมีกระบวนการบริหารจัดการน้ำได้ดีมาก มีการระบายน้ำเข้าออกในช่วงเวลาที่เหมาะ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยแล้วยังมีความเชื่อว่าต้นข้าวต้องการน้ำในปริมาณมาก
หัวใจสำคัญของการทำนาของชาวนาญี่ปุ่น คือ การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรียกว่าแทบจะทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต และยังมีหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญและส่งเสริมการทำนา ไม่ว่าจะเป็น มีการวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวในระดับดีเอ็นเอ เป็นต้น
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐควรให้ความสำคัญและตระหนักอย่างมากก็คือ เรื่องของความรู้ความเข้าใจ การให้ความสำคัญของการศึกษา และการให้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้กับกลุ่มเกษตรกรไทย การเรียนรู้แนวทางของประเทศอื่นสามารถนำมาใช้ในบ้านเราได้ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่หากมีการให้ความรู้และให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ไทยจะสามารถสร้าง Smart Farmer และดึงคนรุ่นใหม่มาช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยให้เฟื่องฟูได้ในอนาคต
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : www.tam-nam.com