โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ผลส่งเสริมข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 62/63 ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ รวม 8.5 ล้านบาท

สศก. ปลื้มผลการดำเนินงานช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิสามารถช่วยลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ได้มากถึง 8.5 ล้านบาท

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินผลโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2562/63 โดยกรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมดำเนินการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีเพื่อให้การผลิตข้าวหอมมะลิของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีประสิทธิภาพและผลผลิตมีคุณภาพสูง รักษาระดับปริมาณ และความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทย โดยโครงการจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบฝนแล้งและฝนทิ้งช่วงในปี 2561 ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงไร่ละ 5 กิโลกรัม แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ หรือ 50 กิโลกรัม เพื่อนำมาใช้เพาะปลูกในฤดูนาปี ปี 2562/63 กำหนดเป้าหมาย พื้นที่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และสุรินทร์ รวมเกษตรกร 112,811 ราย (คัดเลือกจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ปลูกข้าวหอมมะลิ และได้รับผลกระทบภัยแล้ง) รวมเมล็ดพันธุ์สนับสนุน 4,423 ตัน พร้อมทั้งให้คำแนะนำการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราปลูกที่เหมาะสม และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรจากกรมการข้าว มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่มกราคม - พฤศจิกายน 2562

จากการติดตามประเมินผลโครงการ พบว่า มีเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี จำนวน 112,811 ราย ตามเป้าหมาย แยกเป็นรายจังหวัดได้แก่ นครราชสีมา 37,067 ราย บุรีรัมย์ 21,037 ราย มหาสารคาม 23,115 ราย ร้อยเอ็ด 19,208 ราย ขอนแก่น 11,386 ราย สุรินทร์ 484 ราย และศรีสะเกษ 514 ราย รวมเมล็ดพันธุ์ 4,423 ตันโดยเกษตรกรได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ได้รับจากโครงการมาปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ รวมพื้นที่กว่า 232,000 ไร่ หรือเฉลี่ยรายละ 2.06 ไร่

เกษตรกร ร้อยละ 97 มีความพึงพอใจต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับ เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่นำไปใช้มีอัตราการงอกดี พันธุ์ปนน้อย และคาดว่าจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยเกษตรกรบางส่วนต้องการให้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์มากกว่า 5 กิโลกรัม/ไร่ เนื่องจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ทำนาหว่าน

ด้านการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร เกษตรกรที่ได้รับการอบรม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ อาทิ เรื่องการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราปลูกที่เหมาะสม การลดต้นทุนการผลิตข้าว และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองโดยส่วนใหญ่ได้ปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ซึ่งผลจากการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิและอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้เกษตรกรที่ได้รับการอบรม สามารถลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ลง โดยก่อนเข้าร่วมโครงการเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกเฉลี่ย 20.31 กิโลกรัม/ไร่ ภายหลังร่วมโครงการใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 18.90 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลง 1.41 กิโลกรัม/ไร่) สามารถลดต้นทุนจากการใช้เมล็ดพันธุ์ จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 112,811 ราย คิดเป็นมูลค่า 8.5 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการบางส่วนประสบภัยแล้งต่อเนื่อง ในปี 2562/63 (ช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม) ส่งผลให้ข้าวหอมมะลิที่ได้รับเมล็ดพันธุ์จากโครงการได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย สถานการณ์ฝนแล้ง ไปแล้วรวม 29 อำเภอ และจากสภาวะดังกล่าว อาจกระทบผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่โครงการคาดไว้ ซึ่งจะเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2562 แต่จะส่งผลให้ราคาข้าวหอมมะลิในปีการผลิต 2562/63 ปรับตัวสูงขึ้น โดยเกษตรกรที่ยังคงได้รับผลผลิตจากเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีของโครงการ คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่างกับช่วงปีที่ฝนฟ้ามีสภาวะปกติมากนัก