โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

5 เคล็ดไม่ลับ สำหรับ “ร้านอาหาร” ตั้งราคาอาหารอย่างไรให้ได้กำไร และถูกใจลูกค้า

อีกหนึ่งปัญหาที่เจ้าของร้านอาหารขนาดเล็กมักจะเจอนั่นก็คือ การตั้งราคาอาหารที่ลูกค้าคิดว่าสูงเกินจริง จากที่เห็นผ่านทางโลกโซเชียลอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น การโพสต์ต่อว่าเรื่องราคาค่าอาหารที่สูงมาก และได้รับกระแสด้านลบซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของทางร้านด้วย คำถามคือ เจ้าของร้านจะทำอย่างไรที่จะตั้งราคาที่ลูกค้าสามารถรับได้ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านได้ แถมยังได้กำไรจากการขายด้วย ชี้ช่องรวย มี 5 เคล็ดลับดีๆ มาฝาก เผื่อคุณๆ จะได้นำไปปรับใช้กันค่ะ

โดย 5 เคล็ดลับที่ ชี้ช่องรวย นำมาฝาก มีดังนี้

1.ลิสต์ราคาวัตถุดิบให้ดี

ลิสต์ราคาสินค้าออกมาให้หมดเลยว่า ในอาหารแต่ละเมนู จะต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง ราคาเท่าไหร่ ควรลิสต์วัตถุดิบทุกประเภทแม้กระทั่งเกลือ พริกไทย หรือน้ำมันพืช เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนของคุณทั้งสิ้น ถ้าคุณอยากจะคำนวณต้นทุนอาหารได้อย่างถูกต้องก็ควรที่จะต้องทำ

2.ควบคุมปริมาณแต่ละเสิร์ฟ

แนะนำให้ทำการชั่งตวงปริมาณวัตถุดิบทุกอย่าง และใช้เป็นมาตรฐานกลางในครัวสำหรับเชฟทุกคน เครื่องมือที่จำเป็นคือ เครื่องชั่งน้ำหนักอาหาร ซึ่งจะช่วยให้การเริ่มต้นทำอาหารเมนูใหม่ๆของคุณออกมาเท่ากันทุกครั้ง จำไว้ว่า ปริมาณในแต่ละเสิร์ฟนั้นมีผลกระทบกับต้นทุนอาหาร และต้นทุนอาหารก็ส่งผลกระทบกับกำไรของคุณเอง

3.แยกต้นทุนอาหารสำหรับวัตถุดิบแต่ละชนิด

เช่น ถ้าคุณใช้กุ้งปริมาณ 10 กรัมต่อหนึ่งจาน คุณควรจะเอาปริมาณกุ้งทั้งหมดที่คุณซื้อต่อหนึ่งใบสั่งซื้อ มาหารด้วย 10 กรัม เพื่อให้ได้ราคาของกุ้งสำหรับ 1 จานนี้ และอย่าลืมที่จะบวกค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารจานนั้นๆด้วย เช่น ค่าขนส่ง ค่าภาษีต่างๆ เป็นต้น

4.การตัดสินใจตั้งราคาสำคัญ

ต้นทุนรวมของอาหารต่อจานนั้น ควรจะไม่เกิน 33% ของราคาขายในเมนู ตัวอย่างเช่น ถ้าเมนู A ราคาขาย 850 บาท ต้นทุนอาหารจานนั้นของคุณควรจะอยู่ที่ประมาณ 280 บาท อย่างไรก็ดี หากปริมาณต่อจานของคุณใหญ่ขึ้น แต่ราคาขายของคุณยังเท่าเดิม ต้นทุนรวมของอาหารก็จะกลายเป็น % ที่สูงขึ้น และกำไรต่อจานของคุณก็จะลดลงนั่นเอง

5.ลูกค้าเซนซิทีฟเรื่องราคามาก

มันอาจจะดูว่าไม่มากเท่าไหร่หากคุณจะขึ้นราคาขาย 20-30 บาทต่อจานหากคุณมีต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณควรจะคำนึงอยู่เสมอว่า ลูกค้านั้นเซนซิทีฟเรื่องราคามาก โดยเฉพาะราคาที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้น คุณควรที่จะคำนวณทุกอย่างให้ถูกต้องแน่นอนตั้งแต่ครั้งแรกสุดที่ตั้งราคาอาหารแต่ละจาน

การตั้งราคาอาหารแต่ละจานนั้น ควรตั้งแบบสมเหตุสมผลตามคุณภาพและปริมาณของอาหารแต่ละจาน นอกจากนี้ การสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นด้านบริการ การผูกมิตรไมตรีกับลูกค้า จะยิ่งสร้างความประทับใจจนมองข้ามเรื่องราคาไปเลยก็ได้