ปัจจุบัน การขายอาหารบนรถเข็น อาหารหาบเร่ กลายเป็นสิ่งที่ชาวงต่างชาติมองเห็นเป็นเสน่ห์และมีความเป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งที่ผ่านมาทางภาครัฐและเอกชนก็ได้ให้ความสำคัญพร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงรูปแบบสู่ สตรีทฟู้ด สร้างรายได้ให้กับเจ้าของร้านค้า
จนเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รูปแบบการจำหน่ายอาหารรถเข็น หาบเร่ จึงต้องหันมาใส่ใจในเรื่องของความสะอาด ปลอดภัยมากขึ้น การหานวัตกรรมรถเข็นอาหารริมทางมาช่วยในการลดความเสี่ยงถือว่ามีความสำคัญมาก
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการเปิดงาน “สตรีทฟู้ด วิถีชีวิตใหม่” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มอบนวัตกรรมรถเข็นอาหารริมทางแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย และคณะผู้บริหาร เปิดงาน “KMITL Street Food Academy 2020” พร้อมงานเสวนา “New Normal กับการขาย-เลือกซื้อ อาหารสตรีทฟู้ดสุดปลอดภัยในช่วงคลายมาตรการล็อคดาวน์” โดยมีอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าศูนย์ Food innopolis@KMITL ที่ปรึกษาอาวุโสเมืองนวัตกรรมอาหาร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้อำนวยการส่งเสริมความสัมพันธ์ลูกค้าองค์กร บริษัท เบทาโกร จำกัด และตัวแทนจากบริษัท แรบบิท (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเปิดงาน พร้อมมอบนวัตกรรมรถเข็นอาหารริมทางแก่ผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรถเข็นกลุ่มแรก จำนวน 7 คัน โดยพิจารณาจากผู้ที่ว่างงานหรือเคยมีอาชีพขายอาหารริมทาง และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด 19
ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมอนามัย ยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี (Street Food) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ผู้ประกอบการร้านอาหารริมทางได้รับผลกระทบ จึงต้องปรับการขายให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ตามมาตรฐานของกรมอนามัย เพื่อความปลอดภัยของผู้ขายและผู้ซื้อ การที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและหลายหน่วยงาน ได้คิดค้นนวัตกรรมรถเข็นขายอาหารริมทาง เช่น รถขายหมูปิ้ง รถขายน้ำปั่น ที่ได้ออกแบบระบบการควบคุมสุขลักษณะการเตรียมอาหารและความสะอาด เป็นต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผล ประยุกต์ใช้กับธุรกิจร้านอาหารประเภทเดียวกันได้ เป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการจำลองตลาดอาหารสตรีทฟู้ดที่มีมาตรการควบคุมสุขลักษณะแบบ New normal อาทิ การคัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าตลาด การเว้นระยะห่างขณะรอคิว จัดโซนรับประทานอาหารมีฉากกั้น จ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการจัดงานดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการจุดประกายของธุรกิจหาบเร่ ขายของบนรถเข็นที่จะช่วยยกระดับช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลสะท้อนไปยังนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยอีกครั้งในอนาคตอีกด้วย