โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กรมเจรจาฯ เผย ตลาดเอฟทีเอดันไทยส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอันดับ 1 โลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวในประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ดันไทยรักษาแชมป์ประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว มูลค่าส่งออก 6 เดือนแรก โตร้อยละ 9.5 อาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกหลัก ขณะที่ตลาด ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน มาแรง แนะใช้ประโยชน์จาก FTA ให้เต็มที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์จากข้าว อาทิ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว รวมถึงขนมขบเคี้ยว นับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าไทยที่น่าจับตามอง เพราะมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ

ผู้ประกอบการมีความพร้อมมีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปสินค้า นอกจากนี้ ความต้องการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรและความต้องการอาหารในชีวิตประจำวัน ประกอบกับกระแสรักสุขภาพทำให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมานิยมบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – มิ.ย.) พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยมีปริมาณถึง 1.12 แสนตัน มูลค่า 176 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 แบ่งเป็นการส่งออกแป้งข้าวเหนียว มูลค่า 58 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 22 เส้นก๋วยเตี๋ยว มูลค่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11

และขนมขบเคี้ยว มูลค่า 61 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.5 ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวอันดับที่ 1 ของไทย มูลค่า 57 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10 (มาเลเซีย เป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน มูลค่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 32)

ตามด้วย สหรัฐอเมริกา มูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5 จีน มูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 17 ญี่ปุ่น มูลค่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 36 และ ออสเตรเลีย มูลค่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 33 ทำให้ปัจจุบันไทยยังครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวอันดับที่ 1 ของโลก

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งสร้างแต้มต่อด้านราคา ทำให้สินค้าผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแล้วในประเทศคู่เอฟทีเอ 14 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และ ฮ่องกง ส่วนประเทศคู่เอฟทีเออีก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ได้ลด/เลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยแล้วบางส่วน

และคงการเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการ เช่น จีน เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าวเจ้า ร้อยละ 5-40 ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าวเจ้า ร้อยละ 25 อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าว และเส้นหมี่จากข้าว ร้อยละ 30 เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวปริมาณกว่า 2.27 แสนตัน มูลค่า 338 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเติบโตกว่าร้อยละ 187 เมื่อเทียบกับก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนในปี 2535 เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอ มูลค่า 217 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 ของการส่งออกทั้งหมด

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลบังคับใช้ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอยังเติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจ เช่น อาเซียน ขยายตัวถึงร้อยละ 210 จีน ขยายตัวร้อยละ 1,862 ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 148 นิวซีแลนด์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 304 เป็นต้น